“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย
“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูลล่ำซำ มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย
ประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ต้องปรากฏชื่อ “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” ชาวจีนฮากกา ที่คนไทยคุ้นกันว่า “จีนแคะ” เขารอนแรมหนีความลำบากยากจนจากบ้านเกิดมาสร้างตัวบนผืนแผ่นดินไทย กระทั่งเป็น “เจ้าสัว” ที่เลื่องชื่อเรื่องความใจบุญในสมัยรัชกาลที่ 5
แม้ทุกวันนี้ชื่อของเขาอาจไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่ลูกหลานสืบสายตระกูลต่างเป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงเศรษฐกิจและสังคม เพราะอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนคือบรรพบุรุษตระกูลล่ำซำ หนึ่งในตระกูลมหาเศรษฐีดังของเมืองไทย
หนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” เล่มที่ 3 ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย (สำนักพิมพ์มติชน) โดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องราวของชาวจีนในไทยที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด เล่าถึงชีวิตของจีนฮากกาผู้นี้ว่า
อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนมาจากหมู่บ้านเกษตรกรรมที่ยากจนในตำบลฉุ่งเห้ว เขตหม่อยแย้น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนฮากกา ตั้งลึกเข้าไปในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เขาเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของครอบครัว เกิดเมื่อ พ.ศ. 2393 (เทียบแล้วอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3)
ขณะอายุ 13 ปี ทั้งบิดาและมารดาก็เสียชีวิต ช่วงนั้นที่กวางตุ้งเกิดความขัดแย้งแย่งที่ทำกินจนเกิดเป็นศึกย่อยๆ ระหว่างชาวจีนแคะกับชาวกวางตุ้งพื้นถิ่น เรียกว่า “ศึกฮากกา-ปุ๋นเตย” ระหว่าง พ.ศ. 2407-2409
เมื่อบ้านเมืองไร้ความสงบ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนจึงตัดสินใจเดินทางออกมาหางานทำที่ท่าเรือ แล้วข้ามน้ำข้ามทะเลต่อมายังสยาม ได้งานเป็นลูกมือในครัวที่ร้านขายเหล้าของจีนแคะชื่อ จิวเพ็กโก
ร้านนี้นอกจากขายสุราให้พ่อค้าเรือฉลอมและเรือเอี่ยมจุ๊น ยังรับซื้อสินค้าที่พ่อค้าเหล่านี้นำมาขายในกรุงเทพฯ ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีประเมินมูลค่าสินค้าต่างๆ รวมไปถึงขอนซุงที่จิวเพ็กโกชอบรับซื้อ
ชีวิตแต่ละวันของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน หลังจากตื่นนอนก่อนรุ่งสางเพื่อหุงหาอาหารให้ทุกคนในร้านแล้ว เขาก็ไปยกและขนถ่ายไม้ซุง รวมทั้งวัดขนาดและแยกประเภทไม้ต่างๆ โดยเรียนรู้ธุรกิจค้าไม้ไปพร้อมกับรู้จักถนนหนทางในพระนคร
ในเวลาไม่ถึงสิบปี บุรุษหนุ่มที่ต่อมาจะเป็นต้นตระกูลล่ำซำก็มีร้านค้าไม้เป็นของตนเอง ชื่อ “ก้วงโกหลง” หรือ “ก๋วงหง่วงล้ง” ที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ร้านจีนล่ำซำ” ตั้งอยู่ในย่านจักรวรรดิ ใกล้ๆ กับสำเพ็ง และได้แต่งงานกับ “หุ่น” บุตรสาวของ “ฉี่งี้กุง” หรือ “ฉือมุ้ยเจียง” ผู้นำชุมชนจีนแคะ คหบดีเจ้าของร้านขายยาจีนในสำเพ็ง และเป็นผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ในการก่อสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416
อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนสั่งสมความรู้เรื่องการค้าไม้ ประกอบกับการมีอัธยาศัยดี เป็นมิตรกับผู้คนมากมาย เมื่อรัฐเปิดประมูลสัมปทานไม้ เขาก็เข้าร่วมและชนะการประมูลได้สัมปทานไม้ในหลายจังหวัด คือ สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร ลำปาง และแพร่ สมัยนั้นใช้วิธีผูกโยงขอนซุงแล้วปล่อยให้ไหลตามน้ำลงมาจนถึงโรงเลื่อยของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนที่สามเสน โดยมีลูกสาวช่วยทำมาค้าขาย เพราะธรรมเนียมของชาวจีนฮากกาอนุญาตให้ผู้หญิงทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายได้
เจ้าสัวใจบุญ ต้นตระกูลล่ำซำ
แม้จากแผ่นดินจีนมานาน แต่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนไม่เคยลืมถิ่นเกิด เมื่อร่ำรวยแล้วก็ส่งเงินไปช่วยพี่ชายที่ดูแลสุสานบรรพชนอยู่เป็นระยะๆ เมื่อบ้านเกิดประสบภาวะข้าวยากหมากแพง เขาก็ส่งข้าวสารไปช่วย และเมื่อเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่จีนก็ยังบริจาคเงินให้โรงเรียนท้องถิ่นหลายแห่ง ทางการจึงมอบตำแหน่งขุนนางกิตติมศักดิ์ระดับ 5 เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเขา
ในฐานะผู้นำชุมชนชาวฮากกาในกรุงเทพฯ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนได้เรี่ยไรเงินซื้อที่ดินสำหรับสร้างสุสานจีนแคะขึ้นในย่านสีลม ติดกับสุสานฮกเกี้ยน ตอนนั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลกำลังเปิดประมูลสัมปทานการทำไม้อีกครั้ง เขาเข้าร่วมประมูลและได้สัมปทานมาเพิ่มเติม
กำไรที่ได้จากสัมปทานครั้งนี้มากกว่าเงินที่บริจาคไปเพื่อสร้างสุสานเสียอีก เขาจึงเชื่อในผลบุญการทำงานสาธารณกุศล
เมื่อเจ้าสัวต้นตระกูลล่ำซำทราบว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะสถาปนา วัดเบญจมพิตร ซึ่งในการสร้างพระอารามนี้ต้องการไม้ขอนสักจำนวนมาก เขาจึงจัดไม้ขอนสัก 160 ต้นถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเมื่อ พ.ศ. 2443
นอกจากนี้ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนยังเป็นเจ้าภาพจำลองพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งพบที่ลำน้ำมูล บ้านวังปลัด บริเวณพรมแดนระหว่างนครราชสีมากับบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนั้นเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามขนาดที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กำหนด เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร ตามพระราชดำริ
อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 59 ปี ร่างของเขาถูกนำไปฝังที่บ้านเกิดพร้อมด้วยท่านหุ่น ตามธรรมเนียมการนำศพภรรยาเอกกลับไปฝังที่เมืองจีนเคียงข้างสามี
อึ้งยุกหลง บุตรชายของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ได้ขยายธุรกิจการค้าของตระกูลล่ำซำในสยาม และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสยามพานิชจีนสโมสร หรือ “เซียงหวย” โดยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยจีนสมัยที่ 9 ในนาม “อู๋จั่วหนาน” ต่อจากพระยาปดินันทน์ภูมิรัตน์ (เหลี่ยวเปาซัง)
ทุกวันนี้ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ต้นตระกูลล่ำซำ มีทายาทสืบสายเป็นผู้มีบทบาทในเศรษฐกิจและสังคมของเมืองไทยอยู่หลายท่าน ทั้งแวดวงธนาคารและประกันภัย
อ่านเพิ่มเติม :
- “เตียอูเต็ง” จับกังรับจ้างชาวจีน สู่เจ้าสัวใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นสกุลใด?
- มาถ่องเจ็ง เจ้าสัวจีนกวางตุ้งยุครัชกาลที่ 5 บรรพบุรุษกลุ่มมาบุญครองและฟาร์มโชคชัย
- “ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุดจากพระนางซูสีไทเฮา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่มที่ 3 ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568
สั่งซื้อหนังสือชุดนี้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com