กรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดอบรมปลูกกัญชา มาตรการการแพทย์
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของกัญชาทางการแพทย์ ว่า หัวใจสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาได้มาตรฐานทางการแพทย์ คือ การปลูก และเก็บเกี่ยวที่ดี ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในพื้นที่ปลูก ดังนั้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ประกาศมาตรฐานการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชา (Thailand guidelines on Good agricultural and collection practices (GACP) for medical plants) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติสำหรับการสร้างความปลอดภัย ให้กับวัตถุดิบสมุนไพรและการแปรรูปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นโดยผ่านกระบวนการตรวจประเมินรับรองให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
“การเพาะปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะด้านทั้งในเรื่อง สายพันธุ์ การจัดการแปลงปลูก การควบคุมศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และวิธีการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ได้สารออกฤทธิ์สำคัญอย่าง THC และ CBD ในระดับที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษา” นพ.สมฤกษ์ กล่าว
นพ.สมฤกษ์ กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการปฏิบัติตามแนวทาง GACP อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เกี่ยวกับประกาศ กฎ ระเบียบที่ปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขอรับรองมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ และสามารถจำหน่ายในระบบการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยรูปแบบกิจกรรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิชาการเกษตร และ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย เน้นขั้นตอนสำคัญในการเพาะปลูก เช่น แนวทางการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของกัญชาทางการแพทย์ การบรรจุภัณฑ์ และฉลากผลิตภัณฑ์ของกัญชาทางการแพทย์ การตรวจวิเคราะห์ ช่อดอก ดิน และน้ำ ที่ใช้ในการปลูก การเขียนคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) และการบันทึกข้อมูลสำหรับการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวแนวทางการตรวจประเมินตนเอง และการรับการตรวจรับรองจากผู้ตรวจ ประเมินภายนอก เป็นต้น โดยมีกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมอบรมกว่า 200 คน
“การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน นอกจากจะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนระบบสาธารณสุขให้มีวัตถุดิบสมุนไพรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพด้วยการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล” นพ.สมฤกษ์ กล่าว.