ธปท.พร้อมขับเคลื่อนโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เฟส2 ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะ 1 ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึง 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูลการคัดกรองคุณสมบัติลูกหนี้ของสถาบันการเงิน
วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่า ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย คิดเป็น 32% ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติจากทั้งหมด 1.9 ล้านราย ยอดหนี้อยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 52% ของยอดหนี้ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้ เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก จึงขยายเป็นโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2
ช่วงไตรมาส 1/2568 คุณสู้ เราช่วย สามารถชะลอไม่ให้เป็นเอ็นพีแอลได้ประมาณ 1-2% และมีส่วนชะลอการยึดรถของลูกหนี้ไปได้ โดย ปริมาณการถูกยึดรถลดลง จาก 4.6 หมื่นในไตรมาส 3/2567 ทำให้ราคารถยนต์มือสองมีเสถียรภาพมากขึ้นไม่ได้ลดต่ำลงเหมือนช่วงที่ผ่านมา
ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก แต่บางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำให้มีความต้องการช่วยเหลืออยู่เช่นกัน จึงมีคุณสู้ เราช่วย 2 ออกมา
โดยหลักการสำคัญในการออกมาตรการครั้งนี้ คือ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้หนี้ ภาครัฐและเจ้าหนี้ร่วมกันสมทบเงินช่วยเหลือ (Co-pay) ลูกหนี้รักษาวินัยเพื่อให้แก้หนี้ได้สำเร็จ เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เป็นมาตรการชั่วคราว มีแนวทางป้องกันลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) โดยประมาณการลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าโครงการ 1.8 ล้านราย หรือ 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้คงค้าง 3.1 แสนล้านบาท
โครงการคุณสู้ เราช่วย 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ได้แก่
1.จ่ายตรง คงทรัพย์ ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน และลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1 – 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้
2.จ่าย ปิด จบ ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี และสินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อเอสเอ็มอี ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้เสีย เป็นปิดจบได้
3.จ่าย ตัด ต้น ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นเอ็นพีแอล การปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระ 2% ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้
วัตถุประสงค์ในการขยายโครงการเพิ่ม เพื่อรักษาทรัพย์ของลูกหนี้ให้เริ่มต้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนเงื่อนไขเดิมที่ตั้งไว้คือ การห้ามก่อหนี้ใหม่ใน 12 เดือนหากเข้าร่วมโครงการ มองว่าไม่ได้ทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง เพราะลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากค่างวดที่ลดลง
ลูกหนี้ในมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ปีแรกค่างวดจะลดลงถึง 50% อาทิ หากผ่อนบ้านอยู่ 10,000 บาท จะเหลือค่าผ่อนเพียง 5,000 บาท ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเดือนละ 5,000 บาท โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยโครงการนี้ไม่ใช่การพักชำระหนี้ แต่เงินค่างวดทั้งหมดจะนำมาชำระเงินต้นมากขึ้นแทน
#คุณสู้เราช่วยเฟส2
Cr:ธนาคารแห่งประเทศไทย