ยังเสียงแข็ง! โตเกียวยันไม่สังเวยภาคการเกษตรแลกข้อตกลงภาษี หลังทรัมป์เปรยญี่ปุ่นไม่ยอมซื้อข้าวอเมริกันทั้งที่ขาดแคลน
ญี่ปุ่นยืนกรานในวันอังคาร (1 ก.ค.) ไม่ยอมแลกภาคเกษตรกรรมในการเจรจาให้สหรัฐฯลดภาษีศุลกากรมหาโหด หลังทรัมป์ออกปากบ่นแดนอาทิตย์อุทัยไม่ยอมซื้อข้าวอเมริกัน ทั้งที่ขาดแคลนข้าวอย่างหนัก
การแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) เกิดขึ้นขณะที่โตเกียวพยายามโน้มน้าวให้วอชิงตันลดภาษีศุลกากร 25% ที่เรียกเก็บจากรถญี่ปุ่น และภาษีศุลกากรตอบโต้ 24% สำหรับสินค้าอื่นๆ โดยภาษีส่วนหลังนั้นถูกระงับเอาไว้ชั่วคราวจนถึงวันที่ 9 ก.ค.
แม้มีการเจรจามาเกือบ 3 เดือน แต่ญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับอเมริกาได้ โดยนอกเหนือจากภาคยานยนต์ที่เป็นทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ส่งออกสำคัญของประเทศแล้ว ภาคเกษตรกรรมก็ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคะแนนเสียงของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ปลายเดือนนี้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง
เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และผู้เจรจาการค้าระดับสูงของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันอังคาร (1) ว่า ได้ย้ำกับอเมริกาว่า เกษตรกรรมเป็นรากฐานของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นจะไม่ร่วมหารือหากต้องยอมเสียสละภาคเกษตรกรรม ก่อนสำทับว่า จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่อไปในระหว่างการเจรจา
อย่างไรก็ดี อากาซาวะที่เพิ่งเดินทางกลับจากวอชิงตันรอบที่ 7 เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ปฏิเสธที่จะระบุชัดเจนว่า มีการหารือเรื่องข้าวหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์โพสต์บนแพลตฟอร์มสื่อสังคม ทรูธ โซเชียล ของเขาว่า การที่ญี่ปุ่นลังเลที่จะนำเข้าข้าวที่ปลูกในอเมริกาทั้งที่ขาดแคลนอย่างหนักเป็นสัญญาณว่า ญี่ปุ่นเคยชินกับการได้รับการเคารพจากอเมริกา
อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงแล้วญี่ปุ่นนำเข้าข้าวอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาข้าวในประเทศพุ่งโด่งนับจากปีที่แล้วและส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภค
ทว่า ญี่ปุ่นจำกัดโควตาการนำเข้าข้าวปลอดภาษีศุลกากรไว้ที่เพียงปีละ 100,000 ตัน และกำหนดอัตราภาษีที่กก.ละ 2.37 ดอลลาร์สำหรับข้าวนำเข้าที่เกินจากโควตาดังกล่าว ขณะที่ปริมาณข้าวที่บริโภคในประเทศสูงถึงปีละประมาณ 7 ล้านตัน
เวลาเดียวกัน แม้ ชินจิโร โคอิซูมิ รัฐมนตรีเกษตร กังวลว่า การทะลักเข้ามาของข้าวต่างชาติอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารของญี่ปุ่น ทว่า เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (27 มิ.ย.) รัฐบาลได้เปิดประมูลข้าวนำเข้าปลอดภาษีศุลกากรล็อตแรก 30,000 ตันก่อนกำหนดในเดือนกันยายน เพื่อดึงราคาในประเทศให้ลดต่ำลง ซึ่งปรากฏว่า มีการยื่นประมูลรวมทั้งสิ้น 81,853 ตัน หรือเกือบ 3 เท่าตัวของจำนวนที่เปิดประมูล โดยในจำนวนนี้ 25,541 ตันมาจากอเมริกา ตามด้วย 1,500 ตันจากออสเตรเลีย และ 708 ตันจากไทย
นอกจากนั้นยังมีการนำเข้าข้าวที่ต้องเสียภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น เช่น เฉพาะเดือนพ.ค.เดือนเดียว บริษัทเอกชนนำเข้าข้าวถึง 10,600 ตัน ซึ่งมาจากอเมริการาว 3 ใน 4 ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงคลังสหรัฐฯ
อากาซาวะ ยังกล่าวถึงโพสต์ของทรัมป์เมื่อวันอาทิตย์ (29 มิ.ย.) ที่ระบุว่า ข้อตกลงการค้าภาคยานยนต์ของญี่ปุ่นไม่เป็นธรรมต่ออเมริกา โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจกล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีถึง 25% จากรถญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในโพสต์เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์ยังบอกในเชิงข่มขู่ว่า อเมริกาคงทำได้แค่ส่งจดหมายแจ้งญี่ปุ่นเรื่องอัตราภาษีที่จะต้องจ่าย
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่า ก่อนถึงเส้นตายในการผ่อนผันวันที่ 9 นี้ คณะบริหารจะส่งจดหมายถึงประเทศต่างๆ ที่ยังไม่สามารถทำดีลกับสหรัฐฯ หรือยังไม่ได้เปิดการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแจ้งอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านั้นจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่าง 11-50% ตามที่ตัวเขาได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.
ขณะเดียวกัน โคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงสำทับในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ว่า ทรัมป์จะหารือกับทีมเจ้าหน้าที่การค้าเพื่อกำหนดอัตราภาษีสำหรับประเทศที่ไม่คิดจะเจรจาแบบตรงไปตรงมา
จนถึงปัจจุบัน อเมริกาประกาศข้อตกลงการค้ากับ 2 ประเทศเท่านั้นคือ กรอบโครงข้อตกลงกว้างๆ กับสหราชอาณาจักร และข้อตกลงชั่วคราวลดภาษีศุลกากรตอบโต้ระหว่างกันกับจีน
ในวันจันทร์ เควิน แฮสเส็ตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสคนหนึ่งของทรัมป์ เปิดเผยกับโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า วอชิงตันใกล้บรรลุข้อตกลงกับหลายสิบประเทศ และคาดว่า การหารือมาราธอนเรื่องภาษีศุลกากรกับทรัมป์ ตลอดจนการตัดสินใจกำหนดอัตราภาษีสำหรับแต่ละประเทศ จะเริ่มต้นขึ้นทันทีที่ร่างกฎหมายงบประมาณซึ่งมีมาตรการลดภาษีขนาดใหญ่ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยที่ตัวทรัมป์เองคาดหวังว่า รัฐสภาจะอนุมัติผ่านและสามารถส่งร่างกฎหมายนี้ให้ตนลงนามประกาศใช้ได้ภายในวันศุกร์ (4) ซึ่งเป็นวันชาติอเมริกา
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO