รู้จัก “กริพเพน” เครื่องบินขับไล่สุดล้ำ กองทัพไทยใช้สู้รบจริงครั้งแรกของโลก
รู้จัก “กริพเพน” เครื่องบินขับไล่ไทย ใช้งานสู้รบจริงครั้งแรกของโลก
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 กองทัพอากาศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการนำ เครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen หรือที่รู้จักในชื่อ"กริพเพน" ฉายาฉลามอันดามัน ออกปฏิบัติภารกิจโจมตีทางอากาศจริงเป็นครั้งแรกของโลกณ ยุทธบริเวณ “ภูมะเขือ” และ “ปราสาทตาเมือนธม” เพื่อตอบโต้และสกัดกั้นการใช้อาวุธวิถีโค้งของทหารกัมพูชาที่พยายามรุกรานแนวชายแดนไทย
ภารกิจสู้รบจริงของกริพเพน
กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 2 ลำ และ เครื่องบินกริพเพนอีก 2 ลำ เข้าทำการโจมตีเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ถูกระบุว่ามีการตั้งปืนใหญ่และอาวุธวิถีโค้งยิงเข้ามายังฝั่งไทย โดยภารกิจดำเนินไปอย่างแม่นยำและรวดเร็ว เป้าหมายถูกทำลายเรียบร้อย และเครื่องบินทั้งหมดกลับสู่ฐานได้อย่างปลอดภัย
นี่คือครั้งแรกที่กริพเพนถูกใช้ในภารกิจรบจริง พร้อมการปลดปล่อยอาวุธต่อเป้าหมาย ซึ่งแตกต่างจากภารกิจในอดีต เช่น การลาดตระเวนทางอากาศในทะเลบอลติกโดยกองทัพอากาศสวีเดน หรือการเฝ้าระวังน่านฟ้าในลิเบีย ที่ไม่ได้มีการยิงอาวุธจริงในสถานการณ์รบ
“กริพเพน” จุดเด่นทางเทคโนโลยี
1. Data Link T ระบบเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์
สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครื่องบินรบด้วยกันเอง, ศูนย์บัญชาการภาคพื้น และกองทัพเรือไทยแบบเรียลไทม์
ทำให้สามารถแบ่งปันเป้าหมาย, ประเมินภัยคุกคาม, และวางแผนการโจมตีแบบประสานงานได้อย่างแม่นยำ
เป็นหัวใจของการพัฒนารูปแบบสงคราม “Network Centric Warfare” ในกองทัพอากาศไทย
2. เรดาร์ AESA (Active Electronically Scanned Array)
ติดตั้งเรดาร์ PS-05/A รุ่นปรับปรุง หรือเรดาร์ AESA รุ่นใหม่ในรุ่น E
ตรวจจับเป้าหมายได้ไกล สูงสุดกว่า 200 กิโลเมตร
ติดตามเป้าหมายได้หลายเป้าหมายพร้อมกัน ทั้งทางอากาศ ภาคพื้น และทะเล ในทุกสภาพอากาศ
โจมตีได้ก่อนที่เป้าหมายจะตรวจพบด้วยเทคโนโลยี Low Observable Tracking
3. รองรับขีปนาวุธ Meteor ยิงไกล
ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะไกล MBDA Meteor ยิงเป้าหมายได้ไกล กว่า 150 กิโลเมตร
มีความแม่นยำสูง พร้อมระบบเรดาร์ควบคุมตัวเองแบบ Active Radar Homing
4. ระบบ Avionics และ Cockpit ล้ำสมัย
แสดงผลแบบ Glass Cockpit ทั้งหน้าจอสัมผัสและระบบ HUD
ระบบอัตโนมัติสูง ช่วยให้นักบินมีภาระงานต่ำกว่าเครื่องบินขับไล่อื่น
ระบบช่วยตัดสินใจแบบ Real-Time Decision Support สำหรับการโจมตีและการป้องกันตัว
5. ต้นทุนการบินต่ำและดูแลง่าย
ค่าใช้จ่ายในการบินเพียง 160,000 บาท/ชั่วโมง เทียบกับ F-16 (270,000 บาท) และ SU-30 (400,000 บาท)
ใช้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นน้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับเครื่องบินตะวันตกทั่วไป
บำรุงรักษาง่าย ชิ้นส่วนอะไหล่น้อย ลดความซับซ้อนและลดเวลาในการนำกลับขึ้นบิน
6. รันเวย์สั้น ปฏิบัติการได้ทุกสนามบิน
ใช้รันเวย์ในการขึ้นเพียง 400 เมตร และร่อนลง 600 เมตร
รองรับการปฏิบัติการจากสนามบินขนาดเล็กหรือถนนในภาวะฉุกเฉิน
7. พัฒนาได้ - เปิดโอกาสให้ไทยต่อยอด
Saab อนุญาตให้ไทยพัฒนาต่อยอดระบบ Data Link และ Software เองได้
ถ่ายโอนเทคโนโลยีบางส่วน และให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรไทย
เสริมสร้างโอกาสด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระยะยาว