รู้ไว้ดีกว่า! มื้อเย็นส่งผลต่อ "โรคอ้วน" สรุปต้องกินก่อน 1 ทุ่ม หรือกี่ชั่วโมงก่อนนอน?
ในยุคที่จังหวะชีวิตเร่งรีบมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนต้องรับประทานอาหารเย็นค่อนข้างดึกเพราะติดงานยุ่ง ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพของได้ แน่นอนว่ารวมถึงความเสี่ยงต่อโรคอ้วนที่มากขึ้นด้วย
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นของวัน อัตราการเผาผลาญของร่างกายในเวลากลางคืนจะลดลง พลังงานแคลอรี่ที่รับเข้าไปจะสะสมและเปลี่ยนเป็นไขมันได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ชอบรับประทานอาหารเย็นรสจัดหรือมีน้ำมันเยอะ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Obesity พบว่า คนที่รับประทานอาหารเย็นหลัง 20.00 น. มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนสูงกว่าคนที่รับประทานก่อน 18.00 น. ถึง 25%–48% แสดงให้เห็นว่า “เวลา” ของมื้อเย็นมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน การกินดึกจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวน และเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค
เสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหารด้วย โดยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร หากรับประทานอาหารเย็นใกล้เวลาเข้านอนเกินไป จะทำให้อาหารยังไม่ย่อยและดูดซึมไม่ทัน ส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก ท้องอืด ท้องผูก และเพิ่มโอกาสเป็นโรคกระเพาะเรื้อรังหรือแผลในกระเพาะอาหาร
และคุณภาพการนอนหลับลดลง เพราะการรับประทานอาหารเย็นช้าเกินไปจะทำให้ระบบย่อยอาหารยังคงทำงานอยู่ในขณะเข้านอน ส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ คุณภาพการนอนลดลง เกิดอาการหลับยาก นอนไม่ลึก และฝันบ่อย
ในทางตรงกันข้าม การรับประทานอาหารเย็นให้เร็วขึ้นจะช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์หลายด้าน เช่น ดีต่อระบบย่อยอาหาร, ช่วยดูแลสุขภาพหัวใจ, ควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น, เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม และส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ
ตามเว็บไซต์ Aboluowang ระบุว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรับประทานอาหารเย็น คือระหว่าง 18:00 – 19:30 น. และไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เช่น หากคุณเข้านอนเวลา 22:30 น. เวลารับประทานอาหารเย็นที่เหมาะสมที่สุดคือ ไม่เกิน 19:30 น. เพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารรบกวนการนอน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ควรรับประทานอาหารเย็นก่อน 17:30 น. หรือช้าที่สุดไม่เกิน 18:00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าสูงเกินไปอย่างฉับพลัน