สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดปี 68 เบี้ยประกันภัยรวมแตะ 294,000 ล้านบาท
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยไตรมาสแรกปี 68 ธุรกิจประกันวินาศภัย ฟื้นตัวต่อเนื่องด้วยเบี้ยประกันภัยรวม 75,269 ล้านบาท คาดสิ้นปีเบี้ยประกันภัยรับรวม 291,000 – 294,000 ล้านบาท
จากการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก ภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ที่ขยายตัวสูงถึง 13.8% และ การลงทุนภาครัฐ ที่เติบโต 26.3% การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียง 2.6% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -0.9% ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันในภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ
สศช. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งปี 2568 เหลืออยู่ในช่วง 1.3% ถึง 2.3% เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา
ไตรมาสแรกเบี้ยรับรวมแตะ 75,000 ล้านบาท
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึง ภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในไตรมาสแรก (มกราคม–มีนาคม) ปี 2568 ว่า มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 75,269 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 3.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยประกันภัยรถยนต์ มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 42,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.36% ประกันอัคคีภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83% ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง มีเบี้ยประกันภัยรับ 1,668 ล้านบาท ลดลง 4.91% ประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีเบี้ยประกันภัยรับ 29,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.01%
โดยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ดและประกันอัคคีภัย ที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่น สะท้อนความต้องการความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มความเสี่ยง แม้ประกันภัยทางทะเลและขนส่งจะมีการหดตัวเล็กน้อย แต่ภาพรวมของธุรกิจยังคงเติบโตในทิศทางบวก และหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2568 มีแนวโน้มสูงที่จะเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ไว้ทั้งปี
ขณะที่สัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 55.8% (42,004 ล้านบาท) และ ประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor Insurance) 44.2% (33,265 ล้านบาท) ซึ่งสะท้อนถึงการตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหมวดหมู่ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยสุขภาพ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของบริษัท ไทยอินชัวรันส์ รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (TIRD) คาดธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตในอัตรา 1.5% ถึง 2.5% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมี มูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมอยู่ในช่วงประมาณ 291,000 – 294,000 ล้านบาท
ซึ่งการเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงความท้าทายในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัยต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความเสี่ยงใหม่ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค
มุ่งสู่การเป็นเสาหลักเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ดร.สมพร ได้กล่าวถึงการกำหนดกรอบและทิศทางยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยชุดใหม่ ประจำปี 2568-2570 ว่า ยังคงมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและภาคเอกชน และสอดรับกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2568-2573) ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งมุ่งเน้นพันธกิจหลัก 4 ด้าน ดังนี้
- เสริมสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจประกันวินาศภัย: มุ่งเน้นการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านประกันภัย สร้างมาตรฐานการให้บริการ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม
- ส่งเสริม และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี: ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น InsurTech และ Big Data มาใช้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่ตอบสนองความเสี่ยงอุบัติใหม่ และผลักดันให้ภาครัฐบูรณาการการประกันภัยเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของชาติ
- ผลักดันนโยบาย กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย: ทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ส่งเสริมการจัดตั้ง Regulatory Sandbox และปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการลงทุนของบริษัทประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น
- เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ: ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากร ความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันภัย และความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงการขยายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ
“โดยทั้ง 4 พันธกิจนี้จะทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยให้เป็นกลไกสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงระดับประเทศ โดยสมาคมฯ จะเป็น "ศูนย์กลาง" ที่ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบประกันภัยไทยที่ประชาชนเชื่อมั่น ภาครัฐพึ่งพาได้ และเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและยั่งยืนไปพร้อมกัน”