KKP ชี้ เศรษฐกิจไทย น่าห่วง จับตานโยบายการเงิน-ค่าบาทผันผวนครึ่งปีหลัง
KKP ชี้ เศรษฐกิจไทย น่าเป็นห่วงจาก 3 ปัจจัยหลัก: ท่องเที่ยวซบเซา, ขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมลด, และปัญหาภาคการเงิน คาด "นโยบายการเงิน" มีบทบาทสำคัญหนุนเศรษฐกิจฟื้น แนะจับตานโยบายการเงินและการอ่อนค่าของบาทระยะยาวหนุนเศรษฐกิจ
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนาKKP 2025 Mid-Year Review ภายใต้ธีม “The Power of Two” (KKP-Goldman Sachs Asset Management) เมื่อวันที่3 กรกฎาคม 2568 ใน หัวข้อ“โอกาสการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลก” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับหลายปัญหา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปียังคงมีผลงานที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นโลกอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่ความเสี่ยงถดถอยลดลง
ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีหรือช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเคยก่อให้เกิดความกังวลและความไม่แน่นอนด้านนโยบายอย่างมาก สถานการณ์ปัจจุบันแม้จะมีการชะลอตัว แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกลดลง และยังพอมีแรงขับเคลื่อนให้ไปต่อได้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ยังคงต้องจับตามองคือ นโยบายการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ รวมถึงการเจรจาภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน นโยบายและโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ย รวมถึงความกังวลจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับค่าเงินบาท ดร. พิพัฒน์มองว่า แม้ในระยะสั้นอาจเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยน "แข็งเกินไป" และเชื่อว่าในระยะปานกลางถึงระยะยาว มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะ "อ่อนค่าลง" โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก และธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้ามาดูแลเพื่อลดความผันผวน
3 ปัจจัยหลักกดดันเศรษฐกิจไทย
KKP มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคง "น่าเป็นห่วง" จากแรงกดดัน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่:
1. ภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว: นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรเดียวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับความท้าทายหนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปถึง 40% คาดว่าปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเพียง 4 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดลดลง 4% ทำให้มีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว ดร. พิพัฒน์เน้นย้ำว่า "ในช่วงครึ่งปีหลังของปีน่าห่วง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีการปรับประมาณการขึ้นเพราะไตรมาส 1 ดีกว่าที่คาด แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีแบงก์ชาติมองว่ายังมีความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าน่าจะ Bottom ได้ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4"
2. ขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมไทย: แม้ไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมา ภาคการส่งออกจะเติบโตดี โดยเฉพาะในเดือนเมษายน-พฤษภาคม การส่งออกเพิ่มขึ้น 18% และส่งออกไปสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวเพิ่มขึ้นประมาณ 45% แต่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% เท่านั้น ประกอบกับ 3 อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ รถยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเผชิญกับปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน
3. ปัญหาภาคการเงิน: ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาส เนื่องจากธนาคารกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและมองว่าหากปล่อยกู้ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะเผชิญปัญหามากกว่าเดิม ส่งผลให้ปริมาณเงินต่อ GDP อยู่ในช่วงขาลง
ความเสี่ยงเพิ่มเติม: การเมืองและการเจรจาการค้า
นอกจาก 3 ประเด็นหลักข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ KKP ไม่ได้นำมาประเมินแต่ต้องจับตา ได้แก่:
1. ประเด็นทางการเมือง: สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ หากการเมืองมีปัญหาจนกระทบต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ไม่สามารถผ่านไปได้ หรือเกิดความล่าช้า GDP ไตรมาส 4 มีโอกาสที่จะติดลบได้อีก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสัญญาณว่าน่าจะหาทางออกกันได้ ทำให้ความเสี่ยงลดลง
2. การเจรจาการค้า: ปัจจุบันสินค้าไทยเสียภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ 10% แม้สินค้าบางประเภทเช่น ฮาร์ดดิสก์หรืออิเล็กทรอนิกส์จะได้รับการยกเว้น แต่หากถูกเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น ความต้องการสินค้าจะหายไป สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือหากไทยโดนอัตราภาษีสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย หรือจีน จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจของไทยในการเป็นฐานการผลิต
นโยบายการเงินเตรียมมีบทบาทมากขึ้น
ในแง่ของปัจจัยบวก ดร. พิพัฒน์มองว่า ปัญหาทางการเมืองและข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลัง น่าจะทำให้นโยบายการเงินมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น โดยคาดว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีโอกาสเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปเหลือประมาณ 1% ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำคนใหม่
"บทบาทที่สำคัญของนโยบายการเงิน คือการปลดล็อกเรื่องของการส่งผ่านในช่องทางของธนาคาร โดยเฉพาะการกระตุ้นแบงก์ปล่อยกู้เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้"
ท้ายที่สุด ดร. พิพัฒน์ย้ำถึงความสำคัญของ "ค่าเงิน" โดยชี้ว่า การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของไทยไม่ได้สนับสนุนให้ "ค่าเงินบาท" แข็งค่าถึงขนาดนี้ จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสินค้าและบริการ แม้แนวโน้มระยะสั้นดอลลาร์จะอ่อนค่าและบาทแข็งค่า แต่ในระยะกลางถึงยาวน่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลง ไม่เช่นนั้นขีดความสามารถในการแข่งขันจะถูกกระทบอย่างต่อเนื่อง