พระ-เณรและช่างฝีมือท้องถิ่นเร่งแกะสลักเทียนพรรษาด้าน'วัดกลาง'ลั่นครองแชมป์สมัยที่5
พระ-เณรและช่างฝีมือท้องถิ่น จากทั้ง 6 คุ้มวัด ในพื้นที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ต่างเร่งแกะสลักต้นเทียนพรรษา เพื่อให้ทันอวดโฉมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับชม ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.ประโคนชัย ประจำปี 2568 วันที่ 11-12 ก.ค.นี้ เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ผ่านงานศิลปะผสมผสานไทย-ขอม ขณะคุ้มวัดกลางแชมป์แกะต้นเทียน 4 สมัยซ้อน ลั่นคว้าแชมป์สมัยที่ 5
วันที่ 4 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่างแกะสลักเทียนพรรษาจากทั้ง 6 คุ้มวัด คือ วัดโคน, วัดกลาง, วัดจำปา, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์ และวัดชัยมงคล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ที่จะจัดส่งขบวนแห่ต้นเทียนพรรษา เข้าร่วมขบวนประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.ประโคนชัย ประจำปี 2568 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 11-12 ก.ค.68 บริเวณลานหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลประโคนชัย อ.ประโคนชัย ภายใต้แนวคิด ‘หลอมเทียนรวมใจ ประโคนชัยเทียนศิลป์ เยือนถิ่นชุมชน คนทำเทียน’
ในขณะนี้พบว่าช่างแกะสลักเทียนจากทั้ง 6 คุ้มวัด ต่างเร่งแกะสลักและประดับขบวนต้นเทียนพรรษา เพื่อให้เสร็จทันในวันและเวลาของการจัดงาน ซึ่งแต่ละคุ้มวัดได้ใช่เวลาในการแกะสลักขบวนต้นเทียนพรรษามาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เพื่อให้ทันต่อการนำไปอวดโฉม ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมความวิจิตรงดงามของขบวนแห่ต้นเทียนพรรษาของแต่ละคุ้มวัด
โดยเฉพาะที่คุ้มวัดกลาง ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ประกวดต้นเทียน 4 สมัยซ้อน พบว่า บรรดาช่างแกะสลักต้นเทียน มีทั้งพระ เณร และตัวแทนชาวบ้าน ต่างกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการแกะสลักต้นเทียนพรรษา ให้ออกมาเป็นลวดลายต่างๆ ตามจินตนาการ ที่ปีนี้ได้มีการนำลวดลายขอมโบราณ มาแกะผสมผสานกับลวดลายไทย เพื่อถ่ายทอดผลงานศิลปะของช่างประจำท้องถิ่น ที่ได้รังสรรค์ผลงานการแกะสลักขบวนต้นเทียนพรรษา ในตอนการกวนเกษียรสมุทร
ทั้งนี้ สำหรับอัตลักษณ์เด่นของขบวนแห่เทียนพรรษา อ.ประโคนชัย จากทั้ง 6 คุ้มวัด จะเน้นเป็นตัวละครในวรรณคดี การเล่าเรื่องราวความเป็นมาทางพุทธประวัติ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดีงามของไทย และการแสดงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยไม่ล้อเลียนการเมือง เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีกัน
ด้านนายอดุลย์ เรืองคำ อายุ 35 ปี ช่างแกะสลักต้นเทียนประจำวัดกลาง ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นช่างผู้ออกแบบขบวนต้นเทียนพรรษาของคุ้มวัดกลางประโคนชัย บอกว่า ตนเองมาร่วมทำเทียนกับคุ้มวัดกลางประโคนชัยมาตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยในแทบทุกปีรวมถึงปีนี้ตนยังได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้ออกแบบต้นเทียนพรรษาของคุ้มวัดกลางประโคนชัย ซึ่งปีนี้ออกแบบขบวนต้นเทียนเป็นขบวนการกวนเกษียรสมุทร ส่วนแรงบันดาลใจในการออกแบบ ได้มาจากแนวคิดที่มองว่าสามารถลงเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการให้อยู่ในขบวนเดียวกันได้
ส่วนลวดลายที่ใช้เป็นลายผักกูด ที่เป็นลวดลายจำลักอยู่ตามประสาทขอม แล้วนำลวดลายดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับลวดลายไทย ออกมาเป็นรูปแบบต้นเทียนของวัดกลางประโคนชัยในปีนี้ ซึ่งถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวของขบวนต้นเทียนพรรษา อ.ประโคนชัย ในทุกขบวนแห่ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการแกะสลักประดับขบวนต้นเทียนพรรษาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งช่างแกะสลักเทียนทุกคนที่มีทั้งพระ เณร และชาวบ้านในพื้นที่ ต่างมีความตั้งใจเต็มที่ เพื่อคว้าแชมป์สมัยที่ 5 ติดต่อกันให้ได้