รู้จักโรคทรัมป์ ‘หลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง’ อย่ามองข้าม อันตรายถึงชีวิต
"อาจารย์เจษฎา" ชวนทำความรู้จักโรคทรัมป์ ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง พบมากขึ้นในผู้สูงอายุ รีบรักษา ก่อนลุกลามเกินเยียวยา อันตรายถึงชีวิต
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า ภาวะ หลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง โรคที่มองข้ามไม่ได้ อันตรายถึงชีวิต
เห็นข่าวเช้านี้ ที่ทำเนียบขาว ของประเทศสหรัฐ ออกมาแถลงว่า ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ วัย 79 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency หรือ CVI) หลังจากที่มีคนสังเกตเห็นมือของทรัมป์ มีร่องรอยผิดปกติ มือฟกช้ำ และมีอาการขาบวม ทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาป่วย
ผลจากการตรวจพบว่า รอยฟกช้ำที่มือ เกิดจากเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการจับมือบ่อย ๆ และการใช้ยาแอสไพริน (ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด)
แต่จากการตรวจอัลตราซาวนด์ที่ขา พบว่าอาการขาบวมนั้นเกิดจาก ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง เพียงแต่ไม่มีภาวะอื่น ๆ ที่รุนแรงกว่า ไม่มีสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย หรือโรคทางระบบ และทรัมป์ไม่ได้รู้สึกไม่สบายเนื่องจากอาการดังกล่าว (ดู https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/252871 )
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) นี้ จะพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ควรประมาท ควรหมั่นสังเกตตนเองว่ากำลังเป็นอยู่หรือเปล่า และควรรีบรักษา ก่อนลุกลามเกินเยียวยา และอันตรายถึงชีวิตได้ครับ
ขอนำเอาข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ มาเผยแพร่ให้รู้จัก ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) กันนะครับ
ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดดำ และลิ้นภายในหลอดเลือด ทำให้ระบบที่ควบคุมให้เลือดดำไหลกลับเข้าสู่หัวใจ เสียไป เลือดจะคั่งในหลอดเลือดดำ บริเวณส่วนล่างของร่างกาย
ในระยะแรกจะมีอาการบวม เป็น ๆ หาย ๆ ที่เท้า ข้อเท้า และขา ตามมาด้วยความเสื่อมเนื้อเยื่อจนเกิดแผลเรื้อรังในระยะยาว
สาเหตุที่พบบ่อยคือ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำชั้นลึก การบาดเจ็บของหลอดเลือดดำ และการเสื่อมของหลอดเลือดดำในผู้สูงอายุ
ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคไต ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดดำ
อาการที่พบระยะแรก ได้แก่ ปวดตึงน่อง คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิด เข้ารับการรักษาล่าช้า หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่ต้น จนลุกลามกลายเป็นภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) และเกิดแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำ (Chronic Venous Ulcer) ที่รักษาค่อนข้างยาก
ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรสังเกตความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ขาเป็นประจำ หากมีเส้นเลือดขอด ขาบวม ผิวหนังเปลี่ยนสี หรือเป็นแผลที่หายช้า ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอย่างเหมาะสม ก่อนลุกลามยากเกินรักษา
กลุ่มเสี่ยงภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง : กรรมพันธุ์ , ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด
สัญญาณเตือนภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง : ปวดตึงน่อง เมื่อยืนหรือเดินนาน ๆ , เป็นตะคริว ขาชา หลอดเลือดฝอยพองโต หรือเส้นเลือดขอด ร่วมด้วย , บวมแดงร้อน (คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ไม่บวม) , ผิวหนังที่ขาบวมแข็ง
การรักษาภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่
1. สวมถุงน่องทางการแพทย์
สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดดำบกพร่อง การไหลเวียนของเลือดดำจะไม่ดีแม้ขณะเดิน ควรเพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยสวมถุงน่องหรือถุงเท้าทางการแพทย์ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำและเวลานอน เพื่อบีบเลือดที่คั่งอยู่ในหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นให้ไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำชั้นลึก ช่วยลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ลดการเกิดตะคริว ลดอาการปวดน่อง ลดการอักเสบของผิวหนัง เร่งการหายของแผลเรื้อรัง
การสวมถุงน่องทางการแพทย์ที่ออกแบบให้มีการบีบรัดตามระดับที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ หมั่นขยับขาทั้งสองข้าง (ขยับนิ้วเท้าและเกร็งน่อง) ไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อขาและการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจได้ดี เช่น การว่ายน้ำ เต้นรำ หรือขี่จักรยาน ควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน นอนยกขาสูง สวมกางเกงที่ไม่รัดเกินไป นวดขาและเท้าบ่อย ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาบน้ำเย็นหรือประคบเย็นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนหลอดเลือดดำและช่วยลดอาการปวดขา เป็นต้น ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้
2. การรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังเฉพาะที่
แพทย์จะทำแผลเพื่อขจัดเนื้อเยื่อที่ตาย ป้องกันแผลติดเชื้อ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และผิวหนังมาปกคลุมแผล โดยเน้นเรื่องความสะอาดและไม่เกิดอันตรายกับบาดแผล มีการพันรัดเท้าและขาเพื่อช่วยลดการคั่งของเลือดทุกครั้ง
3. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ
แพทย์ตรวจหาตำแหน่งหลอดเลือดดำบกพร่องโดยใช้อัลตราซาวนด์ แล้วฉีดยาเข้าไปเฉพาะที่เพื่อไม่ให้เลือดดำไหลย้อนมาคั่งบริเวณแผลเรื้อรัง วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดและไม่เสียเวลาพักฟื้น โดยอาจมีการรับประทานยาเพื่อช่วยรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังร่วมด้วย
4. การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดซ่อมสร้างหลอดเลือดส่วนลึก เพื่อแก้ไขการไหลย้อนกลับของหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยมีอาการขาบวมอย่างรุนแรงและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นของหลอดเลือดดำที่เสียให้ตึงขึ้น หรือผ่าตัดนำลิ้นที่ดีจากหลอดเลือดดำบริเวณแขนมาทดแทนลิ้นที่ถูกทำลายในหลอดเลือดดำส่วนขา หรือผ่าตัดเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดดำออก
วิธีผ่าตัดดังกล่าว จะช่วยให้แผลหลอดเลือดดำเรื้อรังหายเร็วขึ้น ลดการเกิดแผลและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่มากขึ้น ลดอาการปวดขาและขาบวม ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อมูลจาก https://www.bangkokhospital.com/…/chronic-venous…
ภาพประกอบ AI สร้างจาก Gemini และ ภาพขาผู้ป่วยจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_venous_insufficiency
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 'ทำเนียบขาว' เปิดเหตุ 'ทรัมป์''ขาบวม-มือช้ำ' อาการโรค 'หลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง'
- 'อาจารย์เจษฎ์' แจงความเห็น 'รถเมล์-รถไฟฟ้า' ฟรี แก้ปัญหาฝุ่นไม่ได้
- แห่แชร์คลิป 'ทรัมป์-รูบิโอ' สะดุดบันได ขณะขึ้นเครื่อง 'แอร์ฟอร์ซวัน' เหมือนกัน
ติดตามเราได้ที่