‘พรรคประชาชน’ ยันจุดยืน ‘ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่’ พร้อมยกมือให้นายกฯ ที่ทำตามเงื่อนไข
3 กรกฎาคม 2568 พรรคประชาชน ร่อนแถลงการณ์ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เสนอจุดยืน 7 ข้อ หวังการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลยุบสภา – ชี้ รักษาการนายกฯ หรือนายกฯ คนใหม่ ต้องรับเงื่อนไข ‘ยุบสภา’ ภายในสิ้นปี 68
จุดยืนพรรคประชาชนต่อการหาทางออกสำหรับประเทศ หากนายกฯ แพทองธารพ้นตำแหน่ง
ท่ามกลางปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงที่รุมเร้าประเทศ รวมถึงสภาวการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูง พรรคประชาชนมีจุดยืนดังต่อไปนี้ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับประชาชนทุกคน
(1) พรรคประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ประเทศต้องการมากที่สุด คือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความชอบธรรมทางการเมือง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน และสามารถตั้งทีมบริหารจากความรู้ความสามารถ ไม่ใช่จากการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง
(2) พรรคประชาชนเห็นว่ารัฐบาลที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าว จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากสมการทางการเมืองของสภาชุดปัจจุบัน ทางออกสำหรับประเทศจึงเป็นการจัดให้มี “การเลือกตั้งใหม่” โดยเร็ว เพื่อให้ประเทศมีรัฐบาลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
(3) พรรคประชาชนยืนยันว่า หนทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ได้อย่างเรียบง่ายที่สุด คือการที่รักษาการนายกฯ ประกาศให้ชัดเจนว่าจะใช้อำนาจที่ตนเองมี ในการเดินหน้าสู่การยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง
(4) พรรคประชาชนเห็นว่า หากรักษาการนายกฯ ไม่เลือกที่จะดำเนินการดังกล่าวและมีเหตุใดที่ทำให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง กระบวนการในการเลือกนายกฯ คนใหม่ จะต้องนำไปสู่การได้มาซึ่งนายกฯ ที่พร้อมเดินหน้าสู่การยุบสภา
(5) พรรคประชาชนยืนยันเหมือนที่เคยยืนยันมาโดยตลอด ว่าเราจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่เพื่อให้ประเทศไม่ถูกบีบไปสู่ทางตันหรือการใช้อำนาจนอกครรลองประชาธิปไตย เราพร้อมจะพิจารณาลงมติให้กับผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ คนใหม่คนใดก็ตาม ที่ยอมรับ “เงื่อนไข” ในการเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่มีภารกิจในการเดินหน้าสู่การยุบสภา โดยทางพรรคประชาชนจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลและจะไม่มีใครจากพรรคประชาชนไปเป็นรัฐมนตรี
(6) “เงื่อนไข” ในการเดินหน้าสู่การยุบสภา สำหรับนายกฯ คนใหม่ จะต้องประกอบไปด้วยอย่างน้อย
- การประกาศเส้นตายว่าจะยุบสภาภายในสิ้นปี
- การยืนยันภารกิจเฉพาะหน้าที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว (เช่น การดำเนินการให้มีการจัดประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง เพื่อถามประชาชนเรื่องการมี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ / การคลี่คลายสถานการณ์กรณีพิพาทไทย-กัมพูชาเฉพาะหน้า / การทำให้งบประมาณที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ต้องสะดุดลงเพราะการเลือกตั้ง)
(7) หากมีผู้ใดที่ตอบรับ “เงื่อนไข” ดังกล่าว แต่ไม่ทำตามคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคประชาชนจะใช้เสียงของ สส. ทั้ง 142 คน และทุกกลไกของสภา เพื่อล้มรัฐบาลที่ผิดสัญญากับประชาชนโดยทันที
ในทุกวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทางออกสำหรับประเทศตามครรลองประชาธิปไตยมีอยู่เสมอ
โดยหากนักการเมืองรักษาคำพูดตนเองและพรรคการเมืองทำงานโดยเอาวาระส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยมีแต่จะแข็งแรงและหนักแน่นขึ้น