"วิโรจน์" ยันพรรคประชาชนไม่ยึดตัวบุคคล พร้อมหนุน นายฯชั่วคราว
"วิโรจน์" ยันพรรคประชาชนไม่ยึดตัวบุคคล พร้อมหนุน นายฯชั่วคราว แต่ยื่นเงื่อนไข "ยุบสภาหลังงบฯ 69 ผ่าน" ลั่น ไม่ดีลลับ-ไม่ร่วมรัฐบาล ขอแค่โปร่งใส ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
วันที่ 5 ก.ค. 68 ที่อาคารรัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และอาจมีการมาขอเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาชนว่า สิ่งที่พรรคให้ความสำคัญคือหลักการ ไม่ใช่ ตัวบุคคล หรือพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเข้ามา ตนย้ำว่าจุดยืนของพรรคประชาชนยังคงเหมือนเดิม คือการยุบสภาคือทางออกที่ดีที่สุดในการคืนอำนาจให้ประชาชน แต่หากมีความจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ก่อน และสามารถนำไปสู่การยุบสภาภายในสิ้นปี พรรคประชาชนก็พร้อมใช้เสียงสนับสนุน โดยไม่ขอร่วมรัฐบาลและไม่ยึดติดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ขอเพียงมาตามกลไกของรัฐธรรมนูญ และต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ พรรคประชาชนยินดีสนับสนุนทุกชื่อ หากยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ หรือบุคคลใดก็ตาม ขอเพียงมีข้อผูกพันชัดเจนว่า เมื่อผ่านงบประมาณแล้ว ต้องยุบสภาทันที เพื่อประหยัดงบประมาณการเลือกตั้ง และเปิดทางให้การทำประชามติเรื่องการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เดินหน้าได้ โดยเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
นายวิโรจน์ ยืนยันว่า พรรคประชาชนจะไม่เป็นต้นเหตุของทางตัน ในระบบประชาธิปไตย และเมื่อใดที่มีทางตัน พรรคก็พร้อมจะช่วยกันขุดเพื่อหาทางออก โดยตัดโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในขณะที่พรรคประชาชนยังทำหน้าที่ในสภาอย่างเข้มแข็ง
สำหรับกระแสข่าวที่นายรังสิมันต์ โรม และ น.ส.รักชนก ศรีนอก จากพรรคประชาชน เดินทางไปพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อหารือเรื่องการตั้งนายกฯ ชั่วคราว นายวิโรจน์ชี้แจงว่า เป็นเพียงการพบปะในประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตกลงทางการเมือง และไม่มีลักษณะแอบดีลแบบลับหลังประชาชนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พร้อมย้ำว่าทั้งสองฝ่ายได้ออกมาชี้แจงอย่างเปิดเผยแล้ว และถือเป็นเรื่องปกติในวิถีการเมือง
ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมไม่เลือกหารือกันในรัฐสภา นายวิโรจน์ มองว่า สถานที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหากเลือกห้องประชุมในรัฐสภาก็อาจจะถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าเลือกห้องไหน ทำไมไม่ใช้ห้องอื่น จึงขอให้พิจารณาเนื้อหาของการพูดคุยมากกว่าสถานที่
นายวิโรจน์ ย้ำว่า การพูดคุยข้ามพรรค ข้ามฝั่ง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในระบอบประชาธิปไตย ขอเพียงเปิดเผย ตรงไปตรงมา และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัวหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง