รองรับผู้ป่วย-สูงวัยในพื้นที่ภัยพิบัติ
เริ่มแล้วฤดูมรสุมในหลายพื้นที่โลก ไม่เว้นแม้กระทั่งไทยเรา ณ ชั่วโมงนี้ ที่จะต้องผจญกับพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งถ้าเผชิญกับฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ก็เตรียมคาดการณ์กันได้เลยว่า อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ก็ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตลอดจนเกิดดินโคลนถล่มอย่างน่าสะพรึงเฉกเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา
ก็มีเหล่าบรรดานักวิชาการด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาส่งเสียงเพรียกเตือนต่อทางการประเทศที่กำลังเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ณ เวลานี้ ได้เตรียมมาตการต่างๆ สำหรับรองรับผู้สูงวัย และผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยในที่นี้รวมถึงผู้ป่วยแบบปัจจุบันทันด่วน และผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในพื้นที่ชนบทห่างไกล” ที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ
โดยเหล่านักวิชาการด้านสังคมวิทยาข้างต้น ระบุว่า หากเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ชนบทห่างไกล แล้วมีผู้บาดเจ็บเกิดขึ้น หรือเกิดมีผู้ป่วยแบบปัจจุบันทันด่วน ตลอดจนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบขึ้น ก็เป็นการยากลำบากที่จะลำเลียงผู้บาดเจ็บและผ้ป่วยเหล่านั้น ไปรักษายังสถานพยาบาล ท่ามกลางถนนหนทางที่มีอุปสรรคจากภัยพิบัติธรรมชาติที่กำลังเล่นงานเป็นประการต่างๆ เช่น ทำให้สิ่งกีดขวาง หรือถึงขั้นถนนพัง ที่หนักหนาสาหัสก็คือถนนขาด เพราะได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ทั้งนี้ ทางเหล่านักวิชาการดังกล่าว ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยติดตามจากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ เผชิญภัยพิบัติธรรมชาติหลายอย่าง และมากครั้งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอร์ริเคน พายุทอร์นาโด ไฟป่า รวมไปจนถึงน้ำท่วมสูงฉับพลันในพื้นที่รัฐต่างๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยพวกเขายังได้ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์พฤติกรรม สำนักงานสำมะโนประชากรแห่งชาติสหรัฐฯ สภาผู้สูงอายุแห่งชาติ ตลอดจนโรงพยาบาล สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสาธารณสุขต่างๆ มาช่วยศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วย
ในการศึกษาวิจัย พวกเขาก็ได้ไล่ติดตามสถานาการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ที่ผ่านๆ มาไล่ไปจนถึงเหตุมหาวาตภัยพิบัติ “พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา” พัดถล่มในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เช่น เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2005 (พ.ศ. 2548) หรือเกือบ20 ปีที่แล้วกันเลยทีเดียว ซึ่งมหาวาตภัยดังกล่าว ก็เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกถึงภัยธรรมชาติอันโหดร้ายต่อมนุษยชาติเราครั้งหนึ่งเลยทีเดียว เพราะคร่าชีวิตเหยื่อผู้ประสบภัยไปถึง 1,392 คน สูญหาย 652 คน มูลค่าความเสียหายในทรัพย์สินและทางเศรษฐกิจก็มีมากถึง 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เหตุพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดถล่มข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในการเดินทางไปเข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ได้ไม่สะดวก สืบเนื่องจากถนนหนทางที่ได้รับความเสียหาย หรือไม่ก็ถนนถูกน้ำท่วมขังจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เป็นต้น
โดยนักวิชาการผู้ติดตามศึกษาวิจัยข้างต้น ระบุว่า ผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดกระหน่ำในครั้งนั้น ก็ทำให้ผู้ป่วยโรคไต หนึ่งในโรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไต จำนวนถึงร้อยละ 44 หรือเกือบครึ่งหนึ่ง ต้องพลาดการรักษาอย่างไปอย่างน้อย 1 ครั้ง และร้อยละ 17 พลาดการรักษา 3 ครั้งขึ้นไป
ส่วนเหตุพายุเฮอร์ริเคนแมทธิว ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) และเหตุพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ เมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) ปรากฏว่า ผู้ประสบภัยที่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคเบาหวาน ต้องพลาดการเข้ารับอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปหลายสัปดาห์
ไม่นับเรื่องที่อินซูลินต้องเสียหาย เพราะเกิดไฟฟ้าดับ จนกระทบต่อการจัดเก็บอินซูลิน ที่จำเป็นต้องเก็บในที่เย็น เช่น ตู้เย็น เป็นต้น เพื่อรักษาคุณภาพของอินซูลินไว้
นอกจากนี้ อาหารเพื่อสุขภาพต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ ในการควบคุมโรคมิให้กำเริบออกอาการ ก็ไม่สามารถหาซื้อมารับประทานได้ง่ายๆ แม้เหตุวาตภัยได้ผ่านพ้นไปแล้วใหม่ๆ อีกด้วย ทำให้หลายรายต้องรับประทานอาหารที่แสลงต่อโรคของพวกเขา แต่ก็จำเป็นต้องรับประทานเพื่อประทังชีวิต
ว่ากันถึงตัวเลขประมาณการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในสหรัฐฯ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ก็มีมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประชากร
ส่วนผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อม ซึ่งในสหรัฐฯ มีผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังนี้มากกว่า 7 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11 ของประชากรชาวสหรัฐฯ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ดูจะเป็นปัญหามิใช่น้อย สำหรับการจัดการในช่วงเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ช่วยดูแล ไล่ไปตั้งแต่การอพยพ ที่ปรากฏว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หลายรายไม่ยอมอพยพออกจากบ้านของพวกเขาอย่างง่ายๆ ผู้ดูแลต้องพูดเกลี้ยกล่อมกันอยู่นาน ในขณะที่พายุร้ายกำลังมุ่งหน้าถาโถมาเข้ามาใกล้ทุกขณะ สุ่มเสี่ยงที่จะอพยพหนีไม่ทันจนอาจเป็นอันตรายได้ผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงการช่วยเหลือด้านกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การขับถ่ายที่เป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงเวลาที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่นั้น
อย่างไรก็ดี หลังจากที่สหรัฐ เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ในกลุ่มท้องถิ่นหลายแห่ง ก็ได้หยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้นเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แถมแต่ละปีเกิดขึ้นหลายครั้ง จนมิอาจหลบหนีตัดขาดออกไปจากชีวิตได้ ก็จำเป็นที่จะต้องอยู่กับมัน ด้วยมาตรการต่างๆ สำหรับการรับมือสู้ภัยธรมชาติเหล่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องภัยธรรมชาติ การอพยพหนีภัย หรืออย่างน้อยก็ให้สามารถตอบสนองต่อการแจ้งเตือนเพื่อหนีภัยได้อย่างทันท่วงที การร่วมมือกันในทางสังคมเพื่อช่วยเหลือดูแลกันในยามประสบภัย และการจัดตั้งศูนย์รักษาพยาบาลฉุกเฉินชั่วคราวใกล้กับพื้นที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ เผื่อผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ หรือตัวโรงพยาบาลประสบปัญหากลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเองจนไม่สามารถรักษาคนไข้ได้ รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไม่อ่อนแอ โรคกำเริบไม่ได้ง่ายๆ ตลอดจนมีการช่วยเหลือฟื้นฟูทั้งร่ายกายและจิตใจหลังภัยพิบัติธรรมชาติได้ผ่านพ้นไปแล้ว