ศบ.ทก. ตอบโต้ เตรียมส่งเอกสารประท้วงต่อ ‘ประธานออตตาวา’ ปมเขมรลอบวางทุ่นระเบิด
ศบ.ทก. ตอบโต้ เตรียมส่งเอกสารประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อ "ประธานออตตาวา" ปมเขมรลอบวางทุ่นระเบิด
พลเรือตรีสุรสันต์ คงสิริ โฆษกกระทรวงกลาโหม และ นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ประจำวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568
พบทุ่นระเบิดถูกวางใหม่
พลเรือตรีสุรสันต์ กล่าวถึงการพิสูจน์ทราบทุ่นระเบิด จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เป็นผลมาจากที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ปฏิบัติการลาดตระเวน เพื่อคุ้มครองการเสริมสร้างเส้นทางทางยุทธวิธี จากฐานมรกตไปยังเนิน 481 ซึ่งถือเป็นพื้นที่อธิปไตยของไทย ทำให้พลทหารเหยียบกับระเบิด ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
โดยยืนยันว่า ทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการจัดหน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านทุ่นระเบิดเข้าไปพิสูจน์ทราบ โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 หน่วยดังกล่าวได้สำรวจและพิสูจน์ทราบว่า ในพื้นที่เกิดเหตุ อยู่ห่างจากเส้นปฏิบัติการ 130 เมตร โดยจุดวางทุ่นระเบิด อยู่บนเส้นทางลาดตระเวนของฝ่ายไทย ที่เป็นการปฏิบัติตามปกติ
หน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่า หลุมระเบิดที่เกิดเหตุ มีความกว้าง 69 ซม.ลึก 23 ซม. หน่วยชุดพิสูจน์ทราบได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN 2 และพบทุ่นระเบิดเพิ่มอีก 2 จุด จากการพิสูจน์ทราบ โดยจุดแรก อยู่ห่างจากต้นพญาสัตบรรณราว 50 เมตรใกล้คูเลต ที่ทางทหารกัมพูชาเคยขุดไว้ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน ตรวจพบอีก 3 ทุ่น ส่วนจุดที่ 2 พบเพิ่มอีก 5 ทุ่น ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร รวมทั้งหมดในการพิสูจน์ทราบ เจอทั้งหมด 7 ทุ่น
จากการตรวจพบทุ่นระเบิด ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นระเบิดใช้ใหม่ PMN 2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้ ประเทศไทยและกองทัพไทยไม่มีอยู่ระบบสารระบบยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกัน หลักฐานที่ชัดเจน คือ ยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม โดยพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิด
ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทัพได้ดำเนินการ กวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก โดยไม่ตรวจพบทุ่นระเบิด PMN 2 ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่า ระเบิดชนิดนี้เป็นระเบิดใหม่ และประเมินได้ว่า PMN 2 ที่ตรวจพบ เป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา และวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ตรวจพบทุ่นระเบิดอีก 2 จุด โดยเป็นระเบิดชนิด PMN 2 เช่นเดียวกัน ห่างจากหลุมระเบิดที่เกิดเหตุ ประมาณ 20-30 เซนติเมตร เป็นการชี้ชัดว่า มีการวางใหม่เพิ่มเติมอีก โดยเป้าหมายเพื่อสังหารบุคคล และเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน และเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย
ยกระดับการปฏิบัติ-เพิ่มความระมัดระวังในการลาดตระเวน
พลเรือตรีสุรสันต์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพได้ยกระดับมาตรการการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้น โดยหน่วยในพื้นที่ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังในการลาดตระเวน และมีการเตรียมความพร้อมสูงขึ้น ตามหลักการปฏิบัติของกฎการใช้กำลังของกองทัพ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติโดยกองทัพไทย ได้ออกหนังสือประนามการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะยังคงติดตามและมีมาตรการเพิ่มเติม
นอกจากนี้กองทัพยังมีวาระที่จะเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร รวมถึงผู้แทนกองทัพจากประเทศต่างๆ มารับฟังคำชี้แจงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีประสาทตาเมือนธม ที่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ร่วมหารือเพื่อแก้ไข หามาตรการในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดมาตรการ หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาติใด ให้เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานของชาตินั้นเป็นผู้จัดการ โดยจะเชิญตัวนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่
ส่วนกรณีที่มีปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้ชุดประสานงานประสานงานในพื้นที่ ซึ่งแต่ละฝ่ายจัดกำลัง 7 นาย ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่มีการเรียกชุดกำลังเสริม หรือชุดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า หรือลดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงขอให้ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม
ขอยืนยันว่ามาตรการทั้ง 3 มาตรการมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการดำเนินการ พร้อมกำหนดมาตรการเพิ่มเติม จัดชุดอาสาสมัคร และทหารพรานหญิง มาอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม
ศบ.ทก. ตอบโต้ ส่งหนังสือไปยังประธานออตตาวา
ด้านนางมาระตี กล่าวว่า จากกรณีการลาดตระเวน ของทหารที่บริเวณช่วงบกอุบลราชธานี ประสบเหตุทหารเหยียบกับระเบิด 3 นาย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศบ.ทก.ได้รับรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ตรวจพบ ไม่มีการใช้ในคลังอาวุธไทย ประกอบกับ การประมวลข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง นำไปสู่ข้อสรุปว่าเป็นการวางระบบสังหารบุคคลหรือฝ่ายกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ขอประนามอย่างรุนแรงที่สุดในการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และฝ่ายกัมพูชาละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ระบุไว้ในกฎบัตร อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธะกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อนุสัญญาออตตาวาว่าอย่างชัดเจน
ดังนั้น เพื่อรักษาท่าทีและผลประโยชน์ในเวทีระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะประท้วงอย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังฝ่ายกัมพูชา เนื่องจากเป็นการละเมิดอธิปไตย หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม และพันธะกรณีกับอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และยังส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพ
ขณะเดียวกัน จะดำเนินการตามกระบวนการของอนุสัญญาออตตาวา พันธกรณีของไทยที่เป็นรัฐภาคีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ ที่จะต้องแจ้งการละเมิดอนุสัญญา ต่อประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา ซึ่งปัจจุบัน คือประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การรับผิดชอบโดยกัมพูชา
นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเดินหน้าต่อในการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้มิตรประเทศและองค์การต่างๆรับทราบโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของกัมพูชา เช่น ญี่ปุ่น และนอร์เวย์ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในเวทีอนุสัญญาว่า และจะจัดการประชุมคณะทูตประจำประเทศไทย
ไทยพร้อมที่จะใช้กรอบทวิภาคีแก้ปัญหาชายแดน
ขณะนี้นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
โดยจะได้พบหารือผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ ก็จะใช้โอกาสนี้ ยืนยันจุดยืนของไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะหลักการของไทย ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและการเจรจาผ่านกรอบทวิภาคี ไทยขอเรียกร้องฝ่ายกัมพูชา ให้ให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดนตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ตกลงกันไว้ ภายในกรอบทวิภาคี เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของพื้นที่และของประชาชนของทั้งสองฝ่าย
แม้ขณะนี้ เรากำลังดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทหารไทยเหยียบกับระเบิดเมื่อ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะมีทั้งมิติด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี และการดำเนินการตามกลไกและพันธะกรณีระหว่างประเทศ แต่ขอเน้นย้ำว่า ไทยยังคงยืนยันจุดยืนที่ชัดที่จะเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเวลานี้ ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายกัมพูชาจะให้ความร่วมมือในกรอบทวิภาคี ด้วยความสุจริตใจ โดยเริ่มจากการเข้าร่วม JBC RBC GBC ครั้งต่อไป และหวังว่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ อีกทั้งไทยพร้อมที่จะใช้กรอบทวิภาคีที่อื่นๆ ด้วย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
ขณะเดียวกัน ยังขอให้ตรวจสอบข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ อย่างคำพูดของผู้นำกัมพูชา ทั้ง 2 คน ซึ่งย้อนแย้งกันเองทั้งคำพูดและการกระทำ นำไปสู่ความแตกแยกได้โดยไม่ตั้งใจ จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำขึ้นพื้นที่สาธารณะ โดยการเผยแพร่ข้อมูลและการชี้แจงการดำเนินการของฝ่ายไทย เราเน้นเรื่องการสื่อสารผ่านช่องทางทางการที่มีความรอบคอบและถูกต้อง บนพื้นฐานของกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินการพิมพ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ไม่ได้สนใจความจริง เพียงเพื่อให้ได้รับความนิยมตามกระแสในสังคม พร้อมขอให้เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ทบ. เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ แจงข้อเท็จจริง เขมรลอบวางทุ่นระเบิด พรุ่งนี้!
- ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ แถลงการณ์ ประณามกัมพูชา แฉขัดขวางไทยกู้ทุ่นระเบิด
- กองทัพไทย ประณามกัมพูชา ลุกล้ำอธิปไตยไทยวางทุ่นระเบิด จี้แสดงความรับผิดชอบ
ติดตามเราได้ที่