ประมูลแล้ว350ล้านซ่อมใหญ่“สะพานพุทธ”3ปี คงเอกลักษณ์เหล็กเขียวยกสะพานเรือลอดสะดวก
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ทช. ได้ประกาศร่างขอบเขตงาน (TOR) ประกวดราคา (ประมูล) จ้างก่อสร้างโครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแล้ว กำหนดราคากลางจ้างก่อสร้าง 348,382,289.38 บาท (วงเงินงบประมาณ 350 ล้านบาท ปี 2568-2570) คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือน ก.ย. 2568 และใช้เวลาจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เนื่องจากบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569
แผนงานเบื้องต้นจะใช้เวลาปรับปรุง 36 เดือน เริ่มงานโครงสร้างด้านบนสะพานก่อน 6 เดือนแรกทำงานกลางคืน ปิดจราจรเวลา 22.00-05.00 น. กลางวันเปิดสัญจรปกติ เพื่อปรับปรุงโครงเหล็กสีเขียวด้านบนซึ่งเป็นเอกลักษ์อันโดดเด่น (ไฮไลต์) ของสะพานพุทธ จากนั้นอีก 30 เดือน จะปิดสะพาน 24 ชม. ซ่อมโครงสร้างและตอม่อสะพาน เพื่อเสริมกำลังรับน้ำหนัก ปรับปรุงจุดต่อโครงสร้างสะพาน ซ่อมแซมโครงสร้างเหล็กภายในตอม่อที่ชำรุด รวมถึงซ่อมฐานรองรับสะพานด้วยการต่อเสาสะพานยกความสูงของสะพานขึ้นประมาณ 20-30 ซม. ให้เรือลอดผ่านได้สะดวก รวดเร็วปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงพื้นสะพานที่แตกร้าวและเริ่มเสื่อมสภาพ โดยไม่ได้ปรับปรุงระบบเปิด-ปิดสะพาน
กรมฯ จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องแผนจัดจราจรระหว่างการก่อสร้าง ที่จะมีผลกระทบกับผู้ใช้เส้นทาง โดยเฉพาะช่วงรื้อโครงสร้างสะพานด้านล่างที่ต้องปิดสะพาน 24 ชม. ให้ประชาชนเลี่ยงไปใช้สะพานพระปกเกล้าที่ขนานกันแทน ขณะเดียวกันจะประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คืนผิวจราจรบริเวณสะพานพระปกเกล้าและใกล้เคียง เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
สำหรับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานเหล็กโบราณมีอายุใช้งานกว่า 92 ปี เชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เขตพระนครกับเขตธนบุรี ระบบเปิด-ปิดสะพานถูกยกเลิก จากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างและการใช้งานเกินพิกัดน้ำหนักบรรทุก ปัจจุบันมีเรือบรรทุกสินค้าและเรือขนาดใหญ่ลอดผ่านใต้สะพานเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเรือชนท้องสะพานบ่อยครั้ง
ทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรวจสภาพความเสียหาย และทดสอบพฤติกรรมการรับน้ำหนักของสะพาน พบระดับความเสียหายที่มีผลกระทบต่อกำลังความสามารถรับน้ำหนักบรรทุก จึงจัดทำโครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ให้มีความมั่นคงแข็งแรงในการใช้งาน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกการคมนาคมทางน้ำให้เรือลอดผ่านได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น