ทำไมการจบมหาวิทยาลัยถึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา ?
เมื่อการจบมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้
ถ้าย้อนกลับไปซักสิบปีก่อน สูตรสำเร็จที่พ่อแม่อยากให้ลูกทุกคนเป็นคือ ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย จบมาเป็นเจ้าคนนายคน เป็นหนทางไปสู่การประสบความสำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าในยุคสมัยนี้ทุกอย่างดูจะไม่เรียบง่าย ราบรื่นแบบนั้นอีกแล้ว
ตอนนี้การจบมหาวิทยาลัยไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่การันตีว่าจะมีเงินทองไหลมาเทมาตามมายาคติที่ครั้งหนึ่งคนไทยเคยเชื่อ ซึ่งจริง ๆ ความเชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทยบ้านเรา แต่ที่สหรัฐอเมริกาก็มีความเชื่อแบบนี้
หรือในยุคแห่งบริษัทเทคโนโลยีที่ครอง New S Curve ถ้าเราจบมหาวิทยาลัยแล้วจะมุ่งไปทำงานกับบริษัทบิ๊กเทคฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้บิ๊กเทคฯ หลาย ๆ เจ้าก็กำลังปรับโครงสร้าง ลดคน งั้นถ้าเราจะมุ่งไปทำงานกับภาครัฐดีหละ ? พนักงานรัฐที่อเมริกาฯ ก็ถูกปลด เวียดนามก็ปรับโครงสร้างราชการ ทำงานกับหน่วยงานรัฐไทยก็สถานการณ์เดิมเหมือน 30-40 ปีที่ผ่านมา คือตอนนี้อะไร ๆ ก็ยากไปหมดจริง ๆ ในยุคนี้
The Economist รายงานว่าทั่วภูมิภาคตะวันตก บัณฑิตจบใหม่กำลังเผชิญสถานการณ์การหางานที่ยากลำบาก Oxford Economics รวบรวมข้อมูลจากชาวอเมริกันอายุ 22-27 ปี ที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือสูงกว่า ผลปรากฎว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่อเมริกัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการว่างงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่สหรัฐอเมริกา แต่อัตราการว่างงานของหนุ่มสาวที่จบระดับอุดมศึกษาในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปก็กำลังสูงขึ้น The Economist ยังรายงานต่อว่าที่สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา ก็หางานยากขึ้นสะท้อนจากอัตราการว่างงานของกลุ่มเด็กจบใหม่
The Economist ได้ทำการรวบรวมและสำรวจค่าตอบแทนของคนทำงาน มีค่าแรงชนิดหนึ่งชื่อ ‘ค่าแรงพิเศษของคนจบมหาวิทยาลัย’ (University wage premium) ซึ่งก็คือค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาของคนเรียนจบมหาวิทยาลัยนั่นแหละ (คนจบมหาวิทยาลัยจะได้ค่าแรงสูงกว่าคนจบมัธยมปลาย) แต่จากผลการสำรวจ พบว่าปัจจุบันค่าแรงชนิดนี้ที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างกำลังค่อย ๆ ลดลง และมีแนวโน้มที่ในอนาคตคนที่เรียนจบมัธยมปลายอาจมีเงินเดือนที่ไม่ต่างมากนักกับคนที่จบมหาวิทยาลัย
เรื่องนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนจบมหาวิทยาลัยกำลังมีความพิเศษน้อยลงมในสายตานายจ้าง (หรือแม้แต่สังคม) เรื่องน่าคิดคือมีการไปสำรวจคนที่มหาวิทยาลัยเหมือนกันว่า ‘พึงพอใจ’ กับงานที่ตนทำมากน้อยแค่ไหน สรุปคือ ความพึงพอใจต่องานที่ทำแทบไม่ต่างกันเลยกับคนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย (พึงพอใจต่องานที่ทำห่างกันแค่ 3% เท่านั้นสำหรับคนสองกลุ่มนี้) เรื่องนี้อาจสะท้อนได้ว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขกับงานที่ทำไปมากกว่าคนอื่น
ทำไมการจบมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องปกติกว่าที่คิด
The Economist วิเคราะห์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.การขยายตัวของจำนวนมหาวิทยาลัย
การขยายตัวของมหาวิทยาลัยทำให้มาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนลดลง ซึ่งเรื่องนี้คล้าย ๆ กับคำโกหกในสังคมไทยว่า ‘เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Pittsburg State University ที่ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนหลายคนขาดองค์ความรู้ที่ตนควรจะต้องมีในสาขาที่เรียน
2.ช่องว่างทางทักษะกำลังแคบลง
ตอนนี้นายจ้างสามารถให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาทำในงานที่เคยสงวนไว้สำหรับบัณฑิตเท่านั้นได้มากขึ้น กล่าวคือ ผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาก็เข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือน ๆ กับผู้ที่สำเร็จการศึกษา ยิ่งในยุคนี้ที่มี Ai เข้ามาช่วย แรงงานหลายคนยิ่งมีเครื่องมือมากขึ้น ข้อมูลจาก Indeed เว็บไซต์หางาน ของอเมริกา เปิดเผยว่าในปี 2568 นายจ้าง กำลังหันไปจ้างงานคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน เผลอ ๆ การจ้างคนกลุ่มนี้อาจประหยัดเงินทุนของนายจ้างมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรงพิเศษของคนจบมหาวิทยาลัย
3.ผู้คนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการเรียนมหาวิทยาลัย
ชาวอเมริกันตอบว่า ‘ไม่’ ข้อมูลจาก ‘องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา’ หรือ OECD ระบุว่าตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2565 จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีที่อเมริกาลดลง 5% ในขณะที่ประเทศไทยก็เจอสถานการณ์ที่ค่าเทอมปรับตัวสูงขึ้น แต่คนที่เรียนจบมาตอนนี้ก็เจอสถานการณ์ที่หางานไม่ได้ (เรื่องนี้ Reporter Journey เคยรายงานไปแล้วอ่านที่ลิงก์นี้)
ความพิเศษที่ค่อย ๆ หายไปของคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยยิ่งทำให้โลกตอนนี้คือโลกที่ยากลำบากมากขึ้นสำหรับเด็กจบใหม่ สูตรสำเร็จที่ครอบครัวส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย จบมาเป็นเจ้าคนนายคน ประสบความสำเร็จ สูตรสำเร็จนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้วในตอนนี้
ที่มา The Economist