EU จะรับมือไหวหรือไม่ ทรัมป์งัดไม้แข็ง ขู่ภาษี 30% เสี่ยงฉุดศก.ทรุดยาว
สหภาพยุโรป (EU) เผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปสูงถึง 30% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้ว และอาจส่งผลต่อเนื่องในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก
ผู้นำยุโรปยังคงยึดแนวทางเจรจา โดยคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประชุมในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอาทิตย์ ตัดสินใจชะลอการตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีไว้ก่อน พร้อมแสดงความหวังว่าจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกับสหรัฐฯ ได้ก่อนที่มาตรการใหม่จะมีผลใช้จริง
“เราจะยังคงเดินหน้าเจรจาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมมาตรการตอบโต้ไว้ทุกเมื่อหากจำเป็น” เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว
นักวิเคราะห์จาก ING Bank ชี้ว่าภาษีในอัตรา 30% นี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนชะงักยาว และมีแนวโน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของยูโรโซนในปี 2025 เหลือเพียง 0.9% จาก 1.3% ที่เคยคาดไว้ในปี 2024 โดยให้เหตุผลว่ามาจากภาษีที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
มาตรการภาษีของทรัมป์จะกระทบอุตสาหกรรมยุโรปหลายกลุ่มอย่างรุนแรง ตั้งแต่น้ำองุ่นและสินค้าแบรนด์หรู ไปจนถึงเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังคงอัตราภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้าจากยุโรป (นอกเหนือจากอัตราพื้นฐาน 2.5%) และภาษี 50% สำหรับอะลูมิเนียมและเหล็กกล้า ซึ่งสร้างภาระต้นทุนเพิ่มเติมอย่างมากให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
แม้สถานการณ์จะดูเลวร้าย แต่อุตสาหกรรมและผู้นำยุโรปยังพยายามหาทางบรรเทาผลกระทบ โดยมอริทซ์ ชูลาริก ประธานสถาบันเศรษฐกิจโลกเมืองคีล ให้ความเห็นว่า ภาษีจากทรัมป์ส่งผลต่อคู่ค้าหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงต้นทุนสินค้านำเข้าได้ และจำเป็นต้องแบกรับราคาที่สูงขึ้นเอง
นอกจากนี้ ประเทศทางตอนใต้ของยุโรปอย่างสเปนและอิตาลีอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าชาติอุตสาหกรรมทางเหนือ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ต่ำกว่า อีกทั้งยุโรปยังเพิ่มงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานและกลาโหมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เยอรมนีในฐานะเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป เริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินนับแสนล้านยูโร โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 1.5% ในปีหน้า ถึงแม้การเก็บภาษีครั้งใหม่นี้อาจทำให้ GDP ลดลงราว 0.5% แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่ายังอยู่ในระดับที่ “รับมือได้”
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ทรัมป์เคยขู่เก็บภาษี 20% กับสินค้าจากยุโรป แต่สุดท้ายลดลงเหลือ 10% ทำให้ธุรกิจยุโรปเริ่มปรับตัวตามอัตราดังกล่าว แต่การขยับตัวอีกครั้งเป็น 30% ทำให้ภาคธุรกิจหลายฝ่ายแสดงความกังวลรุนแรง
สมาพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี (V.D.A.) เรียกภาษีใหม่นี้ว่า “น่าเสียใจ” และเรียกร้องให้เจรจาหาทางออกโดยเร็ว ขณะที่ BusinessEurope องค์กรตัวแทนบริษัทใหญ่ของยุโรปมองว่า การเก็บภาษี 30% อย่างต่อเนื่อง “ไม่อาจยอมรับได้”
สินค้าสำคัญจากประเทศอย่างฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน โดยเฉพาะไวน์ สุรา และผลิตภัณฑ์เกษตร ก็เผชิญแรงกระแทกอย่างหนัก ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์คอนญักของฝรั่งเศส 90% ถูกส่งออกไปสหรัฐฯ การสูญเสียตลาดนี้จึงเท่ากับตัดเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรม
ผู้นำยุโรปเริ่มแสดงท่าทีตอบโต้ประธานาธิบดีทรัมป์อย่างจริงจัง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า หากทรัมป์ไม่ถอยจากภาษี 30% ยุโรปควรใช้มาตรการภาษีตอบโต้เช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ แห่งสเปนระบุว่า “การค้าเสรีนำมาซึ่งความมั่งคั่ง ส่วนภาษีที่ไม่เป็นธรรมมีแต่จะทำลายมัน”
ทรัมป์ยังได้ส่งจดหมายถึงประเทศคู่ค้าอีก 23 แห่ง รวมถึงแคนาดา ญี่ปุ่น และบราซิล โดยประกาศภาษีหลากหลายตั้งแต่ 20% ถึง 50% พร้อมกำหนดภาษีพิเศษ 50% สำหรับทองแดง และยืนยันว่าภาษี 30% นี้ “แยกต่างหาก” จากภาษีเฉพาะกลุ่ม เช่น รถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งจะยังคงอยู่
แม้จะมีเสียงคัดค้านจากทั้งยุโรปและเม็กซิโก ทรัมป์ยังเดินหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง และตลาดหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ เขาเคยสัญญาว่าจะใช้เวลา 90 วันเจรจาข้อตกลงใหม่หลายฉบับ แต่จนถึงปัจจุบันมีเพียงกรอบข้อตกลงกับอังกฤษ จีน และเวียดนาม
นักวิเคราะห์จากยุโรปเตือนว่าหากไม่มีการถอยหลัง การตอบโต้แบบ “ตาต่อตา” อาจบานปลายเหมือนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในอดีต ที่เคยเขย่าตลาดการเงินมาแล้ว
ในอีกด้านหนึ่ง ภาษีที่เก็บเพิ่มเหล่านี้ได้สร้างรายได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้รัฐบาลสหรัฐฯ โดยรายได้จากภาษีนำเข้าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณปัจจุบัน แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้มาอาจต้องแลกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ร้าวลึก โดยญี่ปุ่น แคนาดา และพันธมิตรยุโรปหลายชาติเริ่มทบทวนความร่วมมือทางความมั่นคง และหันไปมองทางเลือกใหม่ที่ไม่พึ่งพาสหรัฐฯ อีกต่อไป