ไทยจนมุม!ภาษีทรัมป์ไม่ลดเสี่ยงGDP-1.1%ต้องเปิดตลาดธปท.หั่นดอกเบี้ยช่วย
ไตรมาส 3 ปี 2568 เปิดฉากขึ้นท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้า โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ยกระดับความตึงเครียดอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไว้ที่ระดับสูงถึง 36% พร้อมเลื่อนเส้นตายการเจรจาไปถึงวันที่ 1 สิงหาคม ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีเผชิญความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) บริษัทในกลุ่ม SCBX Group ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางจากภาวะบริโภคที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้วิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ต่อการส่งออก การลงทุน และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบผ่านการปรับโครงสร้างการนำเข้าและการกระจายความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพอร์ตการลงทุน
ในด้านกลยุทธ์การลงทุน ไตรมาสนี้ InnovestX แนะนำให้นักลงทุนเน้นการ“กระจายพอร์ตเข้าสู่สินทรัพย์คุณภาพ” ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับมือกับความผันผวนที่ยังยืดเยื้อ พร้อมทั้งชูหุ้นไทยที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และกองทุนเด่นในกลุ่มทองคำ เทคโนโลยีจีน เวียดนาม หุ้นสุขภาพ และหุ้นปันผลสูงจากจีน รวมถึงแนะนำให้ติดตามตลาดเกิดใหม่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเวียดนามและจีนซึ่งมีศักยภาพการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาษีทรัมป์เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยครึ่งหลังปี 2568
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไว้ที่ระดับสูงถึง 36% พร้อมเลื่อนเส้นตายการเจรจาข้อตกลงการค้าออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายประเทศ เช่น เวียดนาม ได้รับการปรับลดภาษีนำเข้า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ประเมินว่า การคงอัตราภาษีในระดับ 36% สื่อถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยได้ปรับเพิ่มความเป็นไปได้ของกรณีเลวร้าย (worst-case scenario) ที่ไทยต้องเผชิญภาษีศุลกากรระดับนี้ จากเดิม 2% เป็น 10%
- ในกรณีที่สามารถบรรลุข้อตกลงและลดภาษีลงมาอยู่ที่ระดับ 15-20% เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีโอกาสเติบโตที่ 1.1-1.4% โดยมีโอกาสเกิดราว 30%
- หากภาษียังคงอยู่ในช่วง 21-28% คาดว่า GDP จะเติบโตเพียง 0.0-1.0% (ความน่าจะเป็น 50%)
- หากไม่สามารถตกลงกันได้ โดยภาษียังคงอยู่ที่ระดับ 29-36% เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลงถึง -1.1% (ความน่าจะเป็น 20%)
InnovestX มองว่า ผลกระทบเชิงลบจากภาษีนำเข้าในระดับสูงมีแนวโน้มจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 โดยเฉพาะในภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งต่างอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ หากแนวโน้มภาษีที่สูงยังดำเนินต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะ “ถดถอยเชิงเทคนิค” (technical recession)
ในด้านเศรษฐกิจโลก ไตรมาสนี้ยังคงเผชิญความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้า โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาษีศุลกากร ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คาดว่าจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น และเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นแตะระดับ 3.6% ด้านเศรษฐกิจจีน แม้เผชิญแรงกดดันจากภาวะชะลอตัว แต่ยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจช่วยประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
ขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-เวียดนามซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 กำลังถูกจับตามองในฐานะต้นแบบที่ไทยอาจนำมาใช้เป็นแนวทางการเจรจา โดยมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะต้องยอมรับเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) การลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% และ (2) การเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการเจรจาการค้า และประเมินผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เพื่อรักษาเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
แนวทางบรรเทาผลกระทบ: ปรับโครงสร้างการนำเข้า
ท่ามกลางแรงกดดันจากการคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไว้ที่ระดับสูงโดยรัฐบาลสหรัฐฯ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) มองว่า แนวทางหนึ่งที่อาจช่วยลดผลกระทบจากภาษีตอบโต้ต่อเศรษฐกิจไทย คือการ “ปรับสมดุลการค้า” ผ่านการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางการค้า และลดแรงกดดันจากดุลการค้าระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในบางหมวดหมู่อยู่แล้ว เช่น สินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ การเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ อาจช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าในสายตาสหรัฐฯ ได้บางส่วน ขณะเดียวกัน ยังมีหมวดสินค้าที่อาจเปิดให้นำเข้าเพิ่มเติมหากมีการปรับลดภาษีหรือเปลี่ยนนโยบายด้านมาตรฐาน ดังนี้
- เครื่องจักรกลการเกษตร: ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าในช่วง 10-30% หากมีการยกเว้นภาษีจะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตของไทย
- เนื้อสัตว์แปรรูป: ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 40-60% การปรับลดภาษีจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร
- เนื้อหมูสด: ปัจจุบันยังห้ามนำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหา ractopamine หากไทยสามารถปรับมาตรฐาน Maximum Residue Limits (MRL) ได้อย่างเหมาะสม การนำเข้าอาจเพิ่มขึ้นและกลายเป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาทางการค้า
- รถยนต์: ภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งยังสูงถึง 60–80% และรถกระบะที่ 25-40% การลดภาษีจะเปิดโอกาสให้แบรนด์อเมริกันอย่าง Ford, Chevrolet และ Ram เข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประเด็นเชิงบวกในการเจรจารอบใหม่
นอกจากนี้ เพื่อรองรับแรงกระแทกจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในระยะสั้น เป็นไปได้ว่าไทยจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เพื่อรองรับแรงกดดันจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนอย่างชัดเจน
ในด้านการคลัง รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษี 36% สนับสนุนการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนตลาดหรือแหล่งวัตถุดิบ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 115,000 ล้านบาท ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในครึ่งหลังของปี 2568
ขณะเดียวกันท่ามกลางภาวะการเงินที่ตึงตัวและแรงกดดันต่อการเติบโตที่เพิ่มขึ้น นโยบายการเงินควรมีบทบาทสนับสนุนมากขึ้น หากการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ InnovestX เห็นความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉิน (emergency cut) ในเดือน ส.ค. อีก 25 bps เพื่อรองรับแรงกระแทกในระยะสั้น และป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวม
กลยุทธ์ลงทุนไทย ไตรมาส 3/2568: กระจายความเสี่ยงสู่สินทรัพย์คุณภาพทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการลงทุน ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและแรงกดดันจากภายนอก บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ประเมินว่า ไตรมาส 3/2568 เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการ “กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์คุณภาพ” เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของพอร์ตและมุ่งสู่ผลตอบแทนที่ยั่งยืน
นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย Head of Research Department บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/2568 แม้ความเสี่ยงด้าน downside จะอยู่ในระดับจำกัด แต่โอกาสปรับขึ้น (upside) ก็ยังไม่มากนัก เนื่องจากตลาดยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าหลัก แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีโอกาสเกิดความผันผวนจากนโยบายที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ฉับพลัน
ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนด้านการค้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังล่าช้า ความเปราะบางของภาคเกษตร ความไม่แน่นอนทางการเมือง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังซบเซา ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ เพื่อพยุงภาวะเศรษฐกิจ
ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูงและโอกาสเติบโตจำกัด กลยุทธ์การลงทุนที่เน้นการกระจายพอร์ตไปยังสินทรัพย์คุณภาพจึงยังคงเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารความเสี่ยงและรักษาผลตอบแทนอย่างยั่งยืน
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายดัชนี SET Index ปี 2568 ไว้ที่ระดับ 1,250 จุด โดยมองว่าระดับดัชนีต่ำกว่า 1,100 จุดเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจ การฟื้นตัวของตลาดไทยยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ และเสถียรภาพของสภาพคล่องในระบบ
กลยุทธ์สำคัญสำหรับไตรมาสนี้ คือการคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ประเมินจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ โครงสร้างงบดุลที่มั่นคง รายได้ที่กระจายตัวดี ราคาประเมินมูลค่า (Valuation) ที่เหมาะสม และโอกาสรับอานิสงส์จากเมกะเทรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หุ้นเด่นที่ได้รับการคัดเลือกในพอร์ต ได้แก่ BCH, CPF, DIF, MTC และ SCC
ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ InnovestX แนะนำกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง โดยเน้นกลุ่ม Domestic Play ในเอเชียเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ลดน้ำหนักการลงทุนในเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว พร้อมเพิ่มสัดส่วนในหุ้นกลุ่มป้องกันประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านการทหารที่เพิ่มขึ้น
หุ้นต่างประเทศแนะนำ ได้แก่
- สหรัฐฯ: AMD, Constellation Energy, Goldman Sachs, Microsoft, Netflix, RTX
- ยุโรป: BNP Paribas, Deutsche Telekom, Iberdrola, Rheinmetall, SAP, Siemens
- จีน: CATL, China Mobile, Hong Kong Exchange, SMIC, Tencent, Trip.com
ด้าน ดร. รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่าย Investment Strategy และ Trading Product Specialist ของบริษัทฯ กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์หลักในการลงทุนช่วงไตรมาส 3 นี้ คือ “การจัดพอร์ตอย่างสมดุล” ด้วยการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และภูมิภาค เพื่อรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากทั้งปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลก
- ในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัย “ทองคำ” ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ จากแรงซื้อสะสมของธนาคารกลางทั่วโลกและแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
- สำหรับตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในสินทรัพย์ที่มี Duration สั้นกว่า 2 ปี ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับความเสี่ยงเงินเฟ้อได้ดีกว่าตราสารระยะยาว
- ในฝั่งตราสารทุน ยังคงเน้นตลาดเกิดใหม่ (EM) และหุ้นนอกสหรัฐฯ (Ex-US) โดยเฉพาะเวียดนามและจีน ซึ่งมีสัญญาณฟื้นตัวและระดับ Valuation ที่ยังน่าสนใจ พร้อมทั้งแนะนำจับตาตลาดยุโรปที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงปีหน้า
กองทุนแนะนำประจำไตรมาส 3/2568
- UOBSG-H: ลงทุนใน SPDR Gold Shares ETF ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน
- DAOL-CHINATECH: ธีมหุ้นเทคโนโลยีจีนชั้นนำ เช่น Xiaomi และ Tencent
- PRINCIPLE VNEQ-A: กองทุนแรกของไทยที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามคุณภาพดี
- LHHEALTH-A: กองทุนกลุ่มการแพทย์ทั่วโลกที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคาน่าสนใจ
- DR HSHD23: ลงทุนในหุ้นจีนชั้นนำ 50 ตัว อิงดัชนี Hang Seng High Dividend Yield ปันผลเฉลี่ย 6–8% ต่อปี ตอบโจทย์ทั้งการเติบโตและการลดความผันผวนในระยะยาว
สรุปภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 3/2568 InnovestX แนะนำให้คงกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น และเน้นการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์คุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับมือกับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก การเมืองในประเทศ และนโยบายภาษีระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน