กรมพัฒนาที่ดิน ผนึก 5 หน่วยงาน ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ หวังตัดวงจรการระบาด
กรมพัฒนาที่ดิน ผนึก 5 หน่วยงาน ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ หวังตัดวงจรการระบาด
นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการผลิตน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินบูรณาการความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร กำจัดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ โดยเปลี่ยนปัญหาให้เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม
นายอาทิตย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีบทบาทสำคัญในการควบคุมคุณภาพน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ให้มีมาตรฐานเดียวกันและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และลดต้นทุนผลิต โดยเฉพาะการช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหน้าที่นำปลาหมอคางดำ จากการรับซื้อของกรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย มาผลิตน้ำหมักชีวภาพ
“การทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ เป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ช่วยควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ลดการพึ่งพาสารเคมี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนผลิต โดยการใช้หมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ในสวนยางพาราพบว่า เพิ่มขนาดและคุณภาพผลผลิต น้ำหนักเพิ่มขึ้น 20% ต้นฟื้นตัวไวหลังเก็บเกี่ยว และแตกตาดอกได้มากขึ้นถึง 30% ช่วยให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตแข็งแรง ลดโรคใบร่วง เพิ่มปริมาณน้ำยาง” นายอาทิตย์ กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จะนำปลาหมอคางดำมาหมักร่วมกับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่งซุปเปอร์พด.2 กากน้ำตาล และสับปะรด ผ่านกระบวนการย่อยสลายที่รวดเร็ว ได้ธาตุหลัก ธาตุรอง จุลธาตุ และกรดฮิวมิค ภายใต้สูตรที่กรมพัฒนาที่ดินกำหนด ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยคุณภาพของน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ ตามสูตรของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด–ด่าง (pH) ให้อยู่ในช่วง 3–5 ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ไม่เกิน 30 dS/m ปริมาณกรดฮิวมิกไม่น้อยกว่า 1% และปริมาณธาตุไนโตรเจนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 0.5%
ทั้งนี้ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน และกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพของน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำตามสูตรของกรมพัฒนาที่ดินจากการตรวจวิเคราะห์ และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ จากการผลิตของการยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภูมิภาคของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 (จังหวัดปทุมธานี) เขต 2 (จังหวัดชลบุรี) เขต 10 (จังหวัดราชบุรี) เขต 11 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และ เขต 12 (จังหวัดสงขลา) และสถานีพัฒนาที่ดิน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ราชบุรี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กรมพัฒนาที่ดิน ผนึก 5 หน่วยงาน ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ หวังตัดวงจรการระบาด
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th