เอกชนชี้การส่งออกชะลอตัว "ภาษีสหรัฐฯ" ทำไทยเสียโอกาสทางการค้า
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 สถานการณ์การส่งออกสินค้าต่างๆ ของไทยค่อนข้างดี ผู้ซื้อจากฝั่งสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่เร่งนำเข้าและสต็อกสินค้าเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้า โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าไหร่ อันตราการเติบโตด้านการส่งออกของไทยจึงสูงถึง 27% ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ยอดส่งออกในครึ่งปีหลังว่าจะลดลงอย่างแน่นอน
กระทั้งล่าสุด ประกาศอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% โดยบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป เรื่องนี้อาจเกิดจากการขยายระยะเวลาเจรจาและส่งเอกสารไม่ตรงกัน ทำให้ตัวเลขภาษียังคงสูง แต่สาระสำคัญในความหมายค่อนข้างชัดเจน ว่าไทยสามารถขยายระยะเวลาการเจรจาต่อรองไป จนกว่าจะถึงกำหนดใช้จริง
"ที่ผ่านมาการเจรจาและข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้ามีข้อตกลงค่อนข้างเป็นความลับไม่เผยแพร่สู่สาธารณะชน แต่คราวนี้เผยแพร่ใช้เห็นพร้อมลงชื่อของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ฝั่งรัฐบาลไทยไม่สามารถพูดได้มากนัก โดยข้อเรียกร้องบางส่วนที่คาดเดาได้คือ ไทยต้องซื้อของจากสหรัฐมากขึ้น และการซื้อขายเหล่านี้รัฐบาลจะต้องพิจารณาตามกฎเกณฑ์ ความคุ้มค่า เปรียบเทียบราคาจากประเทศอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องปกติพื้นฐานของการค้าขาย"
หากการไม่สามารถแก้ไขหรือเจรจาได้ก่อนครบกำหนด จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงแค่ทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้า แต่จะเสียโอกาสด้านการลงทุนด้วย นักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะมาลงทุนในไทยจะชะลอการตัดสินใจ หากต้องการผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังคงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน การลงทุนบางอย่างกับสินค้าบางประเภทอาจยังคงดำเนินต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับการหาตลาดใหม่ของผู้ประกอบการ ต้องพยายามกระจายความเสี่ยงและปรับตัวให้เร็ว แต่การขยายตลาดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเปิดประเทศและ FTA รวมทั้งแรงสนับสนุนจากรัฐบาล
"ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยก็กำลังพยายามหาตลาดใหม่อยู่ ทั้งร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ที่เริ่มให้ความช่วยเหลือในการจับคู่ทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อเริ่มหาวิธีจับคู่ค้าใหม่กับประเทศใหม่ๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวังสูงสุดในการค้าขาย โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ การขายจะเป็นในรูปแบบระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยง โดยต้องเปิด LC (Letter of Credit) หรือจ่ายมัดจำก่อนและชำระส่วนที่เหลือเมื่อสินค้าลงเรือพร้อมมีเอกสารยืนยัน"
อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของปี 2568 เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ แล้ว แน่นอนว่าอัตราการเติบโตจะไม่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการณ์ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการขายสินค้าแบบวันต่อวันและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับกลยุทธ์ต่อไป