จีนนำเข้า "ทุเรียน" ลดลง เหตุคุมเข้มสารตกค้าง เวียดนามวูบ 62 % ไทยสู้อย่างไรระยะยาว ?
จีนนำเข้า"ทุเรียน" ลดลง - หวั่นสารตกค้าง เขย่าตลาดส่งออก
ทุเรียน ทำเงิน ผลไม้ไทยยอดฮิต ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย มียอดการส่งออกอันดับ 1 ในทุกปี โดยเฉพาะตลาดจีน ที่เรารู้กันดีว่าคนจีนชอบกินทุเรียนของไทยมากแค่ไหน แต่ปัจจุบันเรามีคู่แข่งสำคัญ ก็คือ เวียดนาม จะมาแย่งตลาดแซงหน้าได้หรือไม่ เราต้องไม่ยอมแพ้ ต้องจับตากัน
ประเทศจีนเป็นแหล่งนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ล่าสุดในปีนี้ การนำเข้าทุเรียนสดของจีนลดลงอย่างหนัก คือนับแค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่มกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าจีนนำเข้าลดลงไปแล้วถึงเกือบหนึ่งในสาม สาเหตุไม่ใช่ว่าคนจีนเบื่อทุเรียนแล้ว แต่เป็นเพราะว่าทางการจีนคุมเข้มความปลอดภัยในอาหาร ด่านศุลกากรของจีนมีการตรวจสอบสารตกค้างในทุเรียนอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยรายงานข่าวระบุว่าทุเรียนจากเวียดนามได้รับผลกระทบหนักสุดจากมาตรการดังกล่าว ส่วนประเทศไทยยังคงครองแชมป์เบอร์หนึ่งได้ จีนยังนำเข้ามากที่สุด แต่ก็อยู่ในปริมาณที่ลดลงเช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2568 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดลดลง 32.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 1.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าลดลง 32.9% เหลือ 390,900 ตัน
เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดในครั้งนี้ ยอดนำเข้าจากจีนหดหายไปอย่างหนัก โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกทุเรียนไปยังจีนลดลงเกือบ 62% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยยอดรวมการส่งออกของเวียดนาม ในช่วงห้าเดือนแรกอยู่ที่ 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ยังคงเป็นแชมป์อันดับ 1 เป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าอันดับหนึ่งของจีน แต่ก็พบว่า มูลค่าการนำเข้าจากไทยลดลง 24% ในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าลดลงน้อยกว่าเล็กน้อย
สาเหตุของเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ ? อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง รายงานว่า สาเหตุที่ทำให้การนำเข้าทุเรียนของจีนลดลงในขณะนี้ เป็นเพราะมาตรการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช และประเด็นด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้บรรดาผู้ส่งออกต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งทุเรียนแห่งใหม่สำหรับจีน โดยนักวิเคราะห์มองว่า เวียดนามต้องกลับไปพัฒนามาตรการของตนเอง เกษตรกรชาวเวียดนามยังคงต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรฐานการส่งออกทุเรียนให้ดีขึ้น
ขณะที่ข้อมูลจากชาวสวนทุเรียนในจังหวัดบิ่ญถ่วนทางใต้ของเวียดนามเปิดเผยว่า หลายพื้นที่ในเวียดนามไม่มีห้องปฏิบัติการทดสอบผลไม้ในท้องถิ่น และการขาดแคลนเรื่องดังกล่าวก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการขออนุมัติการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับประเทศไทย
ขณะที่แดน มาร์ติน ที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศประจำกรุงฮานอย จากบริษัทที่ปรึกษา Dezan Shira & Associates กล่าวว่า ประเทศไทยดำเนินการได้อย่างน่าประทับใจในการจัดตั้งโรงงานทดสอบระดับฟาร์ม และฟื้นความไว้วางใจของจีนให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ส่งออกเวียดนามยังคงถูกปฏิเสธซ้ำ ๆ ที่ชายแดน เนื่องจากการตรวจพบสารปนเปื้อน และการขาดระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพก่อนที่ผลไม้จะถูกส่งออกจากฟาร์ม
เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง ความปลอดภัยและมาตรฐานการส่งออก ทุเรียนไทยแม้วันนี้จะยังคงยืนหนึ่งได้อยู่ แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น ในระยะยาวต้องหาทางสู้ที่มั่นคง เช่น เอกชนที่ก็ย้ำว่าการส่งออกทุเรียนของไทย เป็นสินค้าพรีเมี่ยมคุณภาพ
สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีนในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรต่อไป ตามข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร พบว่า ปริมาณการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีนในช่วง เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2568 ลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
มุมมองจากเอกชน โดยบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลัก 2 ประการ
1. สภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวล่าช้าไปประมาณ 20 วัน
2.มาตรการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดขึ้นจากสำนักงานศุลกากรจีน (GACC)
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสารตกค้าง, เอกสาร GAP และการขึ้นทะเบียน DOA ของโรงคัดบรรจุ ซึ่งส่งผลให้ขั้นตอนการส่งออกต้องใช้เวลามากขึ้น และผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบเฉพาะทุเรียนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกทุเรียนเช่นกัน
นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต ระบุว่า สำหรับการแข่งขันระยะยาว ของตลาดส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะอนาคตของทุเรียนไทย มองงว่าเราจะต้องไม่ทำเพียงแค่เร่งปริมาณการผลิตเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ให้ทุเรียนออกมาเยอะๆ แต่ต้องหันกลับมาเน้นทุเรียนที่มี “ความปลอดภัยและคุณภาพ” เป็นหัวใจสำคัญ หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ พร้อมกับทำตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคพรีเมียมมากขึ้น ก็จะช่วยรักษาความนิยมของทุเรียนไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ที่สำคัญ คือ คนจีนยังชอบกินทุเรียนอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่วัย 24-35 ปี ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและยอมจ่ายแพ่งกว่าเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพ ความนิยมตรงนี้กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมของวงการอาหารในจีน บ้านเราเมืองไทย นิยมกินทุเรียนสด เป็นผลไม้ แต่ที่จีนไม่ใช่แบบนั้น นอกจากกินเนื้อทุเรียนสดแล้ว ร้านค้าๆต่างยังเอาทุเรียนไปทำเมนูสารพัดสารเพ ตั้งแต่อาหารคาว-หวาน ไปถึงเครื่องดื่ม ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมทุเรียน มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตไปตามในเมืองต่างๆ ดังนั้นดีมานด์ตรงนี้เชื่อว่ายังเติบโตได้อีกมาก เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ หลายมณฑลของจีนที่ทุเรียนไทยยังเข้าไปไม่ถึง นี่จึงเป็นโอกาสของทุเรียนไทยที่ยังเปิดกว้างอยู่
โดยปัจจุบันนี้ไทยยังยืนหนึ่ง ตลาดทุเรียนสดในจีนนำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด ตามมาด้วยเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ในส่วนแนวโน้มตลาดโลก จากความเสี่ยงหลายด้าน ทางภูมิรัฐศาสตร์ และการค้าโลก ไทยเองก็ต้องเตรียมความพร้อม ในการเปิดประตูและการรุกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
ไทยเราส่งออกทุเรียนไปยังเป็นประเทศจีนเป็นหลัก มากถึงเกือบ 100% ของทุเรียนทั้งหมด
กระทรวงพาณิชย์ย้ำมาตการดูแลทุเรียนสินค้าฮิตของไทย โดยนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่าทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย แต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากกว่าปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลทั้งด้านตลาดในประเทศ และการขยายตลาดส่งออก ผ่านการส่งเสริมการบริโภค ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุเรียนไทยให้กับผู้บริโภคและผู้นำเข้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนเกือบทั้งหมดของไทย ถึง 97% ของการส่งออกทั้งหมด
ข้อมูลระบุว่าปีที่แล้วในปี 2567
"ทุเรียนจากประเทศไทย "
มีมูลค่าการส่งออกรวม 4,404.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 157,506 ล้านบาท
แบ่งเป็น ทุเรียนสด 3,755.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่า 134,852 ล้านบาท
ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง 649.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่า 22,654 ล้านบาท
ที่สำคัญ คือ ทุเรียนเป็นสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดส่งออกถึง 75% ขณะที่บริโภคภายในประเทศเพียง 25% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ ในปี 2568 คาดว่าผลผลิตผลไม้สำคัญ 9 ชนิดของไทย
ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง สับปะรด มังคุด ส้มเขียวหวาน เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่
คาดว่า จะมีปริมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%
ทุเรียนเพิ่มขึ้นมากสุด ผลผลิต 1.767 ล้านตัน เพิ่ม 37%
ลำไย 1.456 ล้านตัน เพิ่ม 1%
มะม่วง 1.306 ล้านตัน เพิ่ม 10%
สับปะรด 1.343 ล้านตัน เพิ่ม 17%
มังคุด 2.79 แสนตัน เพิ่ม 2%
ซึ่งแบ่งเป็นการบริโภคสด 65% และแปรรูป 35% เป็นการส่งออก 74%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐบาลไทยพร้อมรับมือ“ภาษีทรัมป์” สำรอง 5 หมื่นล้าน ดูแลผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจ
- อัปเดตภาษีทรัมป์ล่าสุด หลังส่งจดหมายเตือน ไทยโดนด้วย 36%
- ไทยเกินดุลสหรัฐฯ อันดับ 10 ของโลก แต่เจอภาษีเกือบสูงสุดถึง 36%
- "ขอนแก่น"เปิดตัว“ทุเรียน 3D”ของดีถิ่นไดโนเสาร์ | เรื่องดีดีทั่วไทย | 8-07-68
- สวยหล่อแบบเกาหลี "K-Beauty" โตแซงหน้าอเมริกา ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ตลาดเครื่องสำอางโลก