ซีอีโอ สกาย ไอซีที ปั้มรายได้รับเอวิเอชั่นฮับ ประมูลโปรเจ็คสุวรรณภูมิ 6 หมื่นล้าน
สกายไอซีที เปิดพอร์ตให้บริการแอร์พอร์ต ซีสเต็มรวมกว่า 13 สนามบิน
นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY เผยว่า นับจากสกายไอซีที ซึ่งมีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการเทคโนโลยี ด้านเอวิเอชั่น มากว่า 9 ปี ปัจจุบันให้บริการแอร์พอร์ตซิสเต็มเซอร์วิส ครอบคลุม 13 สนามบินทั่วไทย ครอบคลุมบริการในหลายโซลูชั่น
อาทิ CUTE (Common Use Terminal Equipment) ซึ่งเป็นระบบออกตั๋วโดยสารที่เคาน์เตอร์ CUSS (Common Use Self-check in System) ระบบออกตั๋วโดยสารด้วยตัวเอง CUBD (Common Use Bag Drop) ระบบโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ PVS (Passenger Validation System) ระบบคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าเกต SBG (Self-Boarding Gate) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ
การพัฒนาระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ซึ่งใช้การสแกนใบหน้าเพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้โดยสารก่อนเข้าสู่ระบบสนามบิน
การพัฒนาแอพพลิเคชั่น SAWASDEE by AOT ซึ่งสกาย ไอซีที ลงทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น 1 ล้านคน มีผู้ใช้งานจริง 12% การเปิดให้บริหารพรีเมี่ยม เซอร์วิส ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
โฟกัสขยาย 4 ธุรกิจกระจายความเสี่ยง
แม้สกายไอซีที จะมีรายได้หลักจากธุรกิจการบิน แต่เราก็เน้นกระจายความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอ โดยขยายการให้บริการที่หลากหลายใน สกาย กรุ๊ป ผ่านบริษัทสกาย ไอซีที และบริษัทที่สกาย ไอซีที เข้าไปร่วมลงทุน หลักๆ โดยจะเน้นขยาย ใน 4 ธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ผ่าน บริษัท เมทเธียร์ ซึ่งทำธุรกิจซีเคียวริตี้ แมเนจเมนท์ ของอาคารต่างๆ ขณะที่บริษัท รักข์สยาม ซึ่งให้บริการด้านการรักษารักษาความปลอดภัย เรามีรปภ. และแม่บ้านให้บริการเป็นอันดับต้นๆของไทย และนำคลีนนิ่งโรบ็อต มาใช้ เรามีลูกค้า 400 สัญญาทั้งรัฐและเอกชน เช่น ไอคอนสยาม เอ็มโพเรียม มหาวิทยาลัย และศูนย์ราชการ ใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดในพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่ซับซ้อนใช้ แม่บ้าน ซึ่งสร้างรายได้ประจำ จากการให้บริการรายเดือน
2. บริษัท โปร อินไซด์ ที่ ทำโครงการภาครัฐ 100% เน้นไอทีเน็ตเวิร์ก มีโครงการสูงถึง 5 พันล้าน
3. บริษัท สกาย ไอซีที ที่เซ็นสัญญากับภาครัฐในระยะยาว ทำให้มีความมั่นคงทางธุรกิจ ซึ่งในปี 2567 ให้บริการ 100 สัญญาทั่วประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน
4. บริษัท สกาย เอไอ นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในบริบทต่างๆ เช่น การใช้ AI Voice เพื่อทำให้การตอบสนองของลูกค้าสั้นลง
การขยายธุรกิจต่อเนื่องทำให้สกาย กรุ๊ป เพิ่มจำนวนพนักงานจาก 8 พันคน เพิ่มมาเป็น 1.4 หมื่นคน มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ที่ 6,718 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 481 ล้านบาท และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 2,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้
อีกทั้งตลอดทั้งปีนี้คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20% โดยมีรายได้จากเอวิเอชั่น 70% ขณะที่การประเมินมูลค่ามาร์เก็ต แคป อยู่ที่ 9,181 ล้านบาท และมีสัดส่วนรายได้ที่รอรับรู้ (BACKLOG) มูลค่ารวม 22,015 ล้านบาท
ส่งบริษัทร่วมทุน AOT GA ร่วมประมูลบิ๊กโปรเจ็คสนามบินสุวรรณภูมิ
ขณะเดียวกันซีอีโอ สกาย ไอซีที ยังมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจหลักต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจผ่านบริษัทร่วมทุน อย่าง บริษัท บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย หรือ AOT GA ที่มีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยสกายไอซีที ถือหุ้นผ่าน SAL ซึ่งเป็นบริษัทลูก ในสัดส่วน 42.12%
โดยล่าสุด AOT GA ได้เข้าร่วมประมูลแอร์พอร์ตกราวด์ เซอร์วิส (การให้บริการภาคพื้น) รายที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ สัญญา 25 ปี และคาร์โก้ รายที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้เข้าร่วมประมูลไปเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าสิงหาคมนี้จะทราบผลว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล มูลค่าสัญญา 6 หมื่นล้านบาท สัญญา 25 ปี
เหตุผลที่ทอท.มองว่าจะเปิดให้บริการผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะหลังโควิดพอเปิดประเทศคนกลับมาเดินทาง เกิดการขาดแคลนแรงงาน ทำให้กระเป๋าสัมภาระล้นสายพาน ตอนนี้มีแค่บีเอฟเอสและการบินไทยที่ให้บริการภาคพื้น ซึ่งทำไม่ทัน AOT GA ก็ได้เข้ามาช่วย 2 บริษัทนี้รองรับกราวด์เซอร์วิส
ส่วน คาร์โก้สนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันการบินไทยมีพื้นที่ 9 หมื่นตารางเมตร บีเอฟเอส 7 หมื่น ที่เราประมูลรายที่ 3 พื้นที่ 4 หมื่น รวมแล้ว 2 แสนตารางเมตร หากเราชนะคาร์โก้ 4 หมื่นตารางเมตร ต้องลงทุนคาร์โก้หลักพันล้านบาท เพื่อทำเป็นออโตเมทีฟให้หมด ซึ่งในปีนี้ AOT GA รายได้น่าจะอยู่ระดับ 8-9 พันล้านบาท
ผมมองว่าศักยภาพการรองรับการขนส่งสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ ไม่เกิน 3 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันขนส่งสินค้าอยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี ถ้าเราได้เป็นผู้ประกอบการรายที่ 3 เราต้องมีส่วนขับเคลื่อนการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ให้รับได้อย่างน้อยเหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกงในอนาคต สิงคโปร์รับสินค้าอยู่ที่ 3-4 ล้านตันต่อปี ฮ่องกงรองรับ 6.7 ล้านตัน
สกายไอซีที ขับเคลื่อนการเติบโตรับ เอวิเอชั่น ฮับ
อีกทั้ง สกาย ไอซีที ยังมองโอกาสเติบโตจากแผนยุทธศาสตร์การบิน ของรัฐบาลในการผลักดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ซึ่งตามแผน 3 ระยะ
ระยะสั้น (ปัจจุบัน - 2568): รองรับผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 180 ล้านคน รองรับเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบิน ลดระยะเวลาต่อเครื่องบิน (Minimum Connecting Time) น้อยกว่า 75 นาที ดำเนินแผนกลยุทธด้านคาร์โก้ ขนส่งสินค้าทางอากาศ
ระยะกลาง (2568 – 2571) รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 210 ล้านคน และเที่ยวบิน 1.4 ล้านเที่ยวบิน ลดระยะเวลาต่อเครื่องบิน (Minimum Connecting Time) น้อยกว่า 60 นาที มีอันดับการขนส่งทางอากาศที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิก
ระยะยาว (2572 - 2581): รองรับผู้โดยสารสูงถึง 270 ล้านคน และเที่ยวบิน 2.1 ล้านเที่ยวบิน ลดระยะเวลาต่อเครื่องบิน (Minimum Connecting Time) น้อยกว่า 45 นาที ก้าวสู่ 1 ใน 5 ผู้นำด้านการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ประกอบกับทอท.ก็มีแผนพัฒนาสนามบินรองรับยุทธศาสตร์นี้ สนามบินสุวรรณภูมิระยะกลางมีการสร้างอีสต์เทอร์มินัล ระยะยาวสร้างเซาท์เทอร์มินัล ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ถ้ามีอีสต์เทอร์มินัล ก็บวกเพิ่ม 20 ล้านคน ในอีก 3 ปีรองรับ 80 ล้านคน เราประเมินเซาท์เทอร์มินัลบวกอีก 70 ล้านคน ในอีก 7-8 ปี รับได้ 150-160 ล้านคน
สกายไอซีทีในเชิงเทคโนโลยี เราจะเข้าไปนำเสนอในสนามบินต่างๆ ทั่วไทย บางแห่งแน่นมาก จะเอาเทคโนโลยีไปลดความแออัด หรือสนามบินไหนยังมีนักท่องเที่ยว ไม่เยอะมาก เราไปสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ให้ได้ เป้าหมายสูงสุดคือการสร้าง End-to-End Contactless Journey คือวันที่ผู้โดยสารใช้เพียงใบหน้า หรือ One-ID ผ่านทุกจุดตั้งแต่เช็กอินจนก้าวขึ้นเครื่องบิน
รวมไปถึง สกาย กรุ๊ป ยังให้ความสำคัญกับ Megatrend ระดับโลก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ อาทิ “Net Zero” การศึกษาเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน Thermal Energy Storage การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) Technological Innovation: พัฒนาเทคโนโลยี Biometric บนมือถือ และส่งเสริมการใช้ Contactless Check-in และ Self-Bag Drop “Intermodal Connectivity” มุ่งสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบิน รถไฟ และรถบัส ผ่านระบบตั๋วร่วมและฐานข้อมูลที่เชื่อมถึงกัน “The Changing Workforce” นำ AI มาใช้ในรูปแบบ AI Agent และ Kiosk อัจฉริยะ เพื่อลดภาระงานของพนักงาน และใช้ Predictive Analytics วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์พฤติกรรมผู้โดยสาร สร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นโอกาสในธุรกิจของ สกาย กรุ๊ป ที่จะเกิดขึ้น
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,109 วันที่ 29 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568