ADB หั่น 'จีดีพีไทย' รองบ๊วยอาเซียน ปีนี้เหลือ 1.8% จากเดิมให้ไว้ 2.8%
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียฉบับเดือนก.ค. 2568 หรือ Asian Development Outlook (ADO) July 2025 ปรับลดคาดการณ์จีดีพีประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลงเหลือ 4.7% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมในเดือนเม.ย. ที่ให้ไว้ 4.9% และลดแนวโน้มของปีหน้าลงเหลือ 4.6% จากคาดการณ์เดิม 4.7% โดยระบุว่านโยบายภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นของสหรัฐและความไม่แน่นอนทางการค้า ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกย่ำแย่ลง
รายงาน ADO July 2025 คาดการณ์ว่าอุปสงค์ภายในประเทศของทั้งภูมิภาคจะอ่อนแรงลง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน เป็นตัวฉุดรั้งภูมิภาค
“เอเชียและแปซิฟิกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ท้าทายมากขึ้นในปีนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอลงท่ามกลางความเสี่ยงที่ทวีความรุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนทั่วโลก” อัลเบิร์ต พาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าว
อาเซียนอ่วมหนัก 'ไทย-สิงคโปร์' ตัวฉุดแรง
ในบรรดาภูมิภาคย่อยในเอเชีย ADB ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ลงมากที่สุด โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ 4.7% ในเดือนเม.ย. และปรับลดคาดการณ์จีดีพีของปีหน้าลงเหลือ 4.3% จากเดิม 4.7% เนื่องจากผลพวงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอลงเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค และยังอาจกระทบต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้
ในบรรดาเขตเศรษฐกิจ 6 ประเทศในอาเซียนที่มีการประเมินพบว่า "ประเทศไทย" และ "สิงคโปร์" ถูกหั่นคาดการณ์จีดีพีลงมากที่สุด โดย ADB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.8% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดเอาไว้ 2.8% ในรายงานเดือนเม.ย. "ส่วนปีหน้าจะยิ่งหนักขึ้น" โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 1.6% เท่านั้น จากที่เคยประเมินไว้ 2.9%
ขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงรายเดียวในอาเซียน ถูกหั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 1.6% จากเดิม 2.6% และปีหน้าจะเติบโตได้ 1.5% จากเดิม 2.4%
ADB ระบุว่า เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากภายนอก แม้ว่าการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐจะล่าช้าออกไป และมีการส่งออกในบางภาคส่วนที่เร่งตัวขึ้นก็ตาม โดยคาดว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด "ยกเว้นอินโดนีเซีย" ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค จะมีการเติบโตที่อ่อนแอลงในอีก 2 ปีข้างหน้า
สำหรับอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2568 และ 2569 ออกมา "ต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้" โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้พบว่า ประเทศส่วนใหญ่มีอัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวลง และความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง สวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น
โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยอ่อนแรง
ในบทวิเคราะห์แยกเป็นรายประเทศ ADB ได้ระบุถึง "ประเทศไทย" ว่าโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกำลังอ่อนแรงลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง
จีดีพีในไตรมาสแรกปี 2568 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอลง ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 1.8% ในปี 2568 และ 1.6% ในปี 2569 ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.8% และ 2.9% ตามลำดับ
การปรับลดคาดการณ์จีดีพีดังกล่าวสะท้อนถึง"ผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้า การชะลอตัวของการท่องเที่ยว และภาระหนี้ครัวเรือน" ขณะที่กำไรจากการส่งออกก่อนการขึ้นภาษีของสหรัฐอาจลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
สำหรับแนวโน้มในเชิงบวกนั้น ADB มองว่าการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐแล้ว ปัจจัยเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ก็อาจเป็นภัยคุกคามเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยด้วย