โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘อภิสิทธิ์’ กางสูตรผ่าทางตัน ทำ กม.ศักดิ์สิทธิ์-ฉันทามติแก้ รธน.

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 16 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2568 “เครือเนชั่น” จัดงาน “55 ปี NATION ผ่าทางตันประเทศไทย กับ 3 ผู้นำทางความคิด : Chapter 3 ผ่าทางตันกับ 3 บก.” โดยมีแขกรับเชิญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดำเนินรายการโดย 3 บก. ได้แก่ นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), และประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด และนายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น

‘อภิสิทธิ์’ อธิบายชัด ประเทศยังไม่ถึงทางตัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงบรรยากาศทางการเมือง มีความอึดอัดเช่นนี้ ประเทศถึงทางตันแล้วหรือไม่ ว่า จะบอกว่าถึงทางตัน ต้องดูว่ากรณีระบบไม่มีทางออก ในขณะนี้แม้จะมีกรณีของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องของนายกฯ (แพทองธาร ชินวัตร) หรือมีพรรคการเมืองบางพรรค หรือหลายพรรค มีข้อกล่าวหา มีคดีอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ สมมติว่าเอาเรื่องนายกฯ ชัดเจนสุด เราคิดว่าคงตัดสินได้อีกไม่นานนัก ถ้าตัดสินว่าไม่ผิดก็เดินต่อ แต่ไม่แน่ใจว่าปฏิกิริยาจากมวลชนเป็นอย่างไร แต่สมมติตัดสินว่าผิด ก็ไม่ถึงทางตัน สภาฯก็เลือกนายกฯใหม่ โดยที่โครงสร้างของรัฐบาลในปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นอาการพรรคร่วมพรรคไหนไม่อยากเป็นรัฐบาล เขาก็อยู่กันไป และสามารถเลือกบุคคลในบัญชี และมีบุคคลในบัญชีของพรรคเพื่อไทย กรณีของนายชัยเกษม นิติสิริ ตนก็เรียกว่าไม่ถึงทางตัน ถามว่าไปได้หรือไม่ ไปได้ แต่ไปได้ไกลหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นปัญหาอื่น ๆ รุมเร้า ตนพยายามบอกพิธีกรว่า การเมืองไว้ทีหลังก็ได้ เพราะเรื่องหลักที่ประเทศถูกรุมเร้าหลายอย่าง เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างชายแดน หรือภาษีทรัมป์ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย ปัญหาคือการเมืองที่จะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ต้องเป็นการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันไม่มี แม้ที่ตนบอกว่า ผ่าตรงนี้ไปอีกขั้นหนึ่ง ก็เชื่อว่า ความเชื่อมั่นและโครงสร้างรัฐบาลปัจจุบัน ลำบากมากที่จะแก้ไขเรื่องใหญ่ ๆ ในเชิงโครงสร้างได้ เพียงแต่ว่าขณะนี้ คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า สิ่งดีที่สุดคือ ไม่ควรหันไปหาการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ

เชื่อประคับประคองได้อีกปีกว่า ก่อนเลือกตั้งใหม่

พูดง่าย ๆ ถ้าสถานการณ์แบบนี้ เหลือสภาฯชุดนี้อีกปีกว่า ๆ สมมติไม่ยอมยุบสภาฯ เขาก็ประคองไป เราก็เพียงแต่บอกว่า หวังว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนก็ดี พรรคการเมืองก็ดี จะตื่นตัวในเรื่องปัญหาใหญ่ของประเทศ แข่งขันในเรื่องแบบนี้ ถ้าเราโชคดี จะมีพรรคการเมืองที่สามารถหาคำตอบ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และเข้ามา เพียงแต่ทุกคนกังวลว่า ด้วยกติการัฐธรรมนูญปี 2560 มันไม่ง่ายที่จะไปถึงจุดนั้น แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ประคับประคองไป และยังไม่ได้ถึงจุดที่ถึงทางตัน

เมื่อถามว่ามองสัญญาณแล้ว มีโอกาสถึงทางตันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่จริงตอนนี้ ถ้าบอกว่าจะตันหมายความว่า ทางที่ตันแน่ ๆ คือ เกิดเลือกไปแล้วมีปัญหาอีก หลุดอีก จนไม่เหลือใครให้เลือก หรือจนไม่สามารถรวมเสียงข้างมากเลือกใครได้ แต่กรณีนั้นด้วยเวลาที่เหลือ กับคนที่เหลือ ก็ต้องหลุดกันถี่พอสมควร ประเด็นคือพรรคประชาชน (ปชน.) เขาก็พยายามเสนอทางออกอยู่แล้ว กรณีคนไม่ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาลเสียที พร้อมยกมือให้ แต่เป็นรัฐบาลชั่วคราว อย่างไรการเดินตามระบบมันเดินได้

มองข้อเสนอผ่าทางตัน ปชน.จังหวะไม่ดี ควรเสนอตอนเหตุเกิดขึ้นแล้ว

ส่วนจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ปชน.กรณีโหวตนายกฯชั่วคราว เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนยุบสภาฯเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ค่อยเข้าใจจังหวะที่ ปชน.นำเสนอ เพราะยังไม่เกิดกรณีนี้ และการเสนอในขณะนี้ต้องบอกว่า เราเห็นปฏิกิริยาทันทีว่า มันไม่ได้เข้าใจตรงกัน อย่างพรรคเพื่อไทยก็ปฏิกิริยารุนแรง เพราะกลัวไปเลือกนายอนุทิน ชาญวีรกูล แต่จริง ๆ แล้ว นายอนุทิน กับพรรคประชาชน รวมกันแล้ว เสียงก็ไม่พออยู่ดี ทำให้มีการตอบโต้กันไปมา กลายเป็นเล่นเกมการเมืองมากกว่า

ตนก็พูดหลายคนแต่แรกว่า เป็นแนวคิดที่ถ้าเกิดปัญหา แต่มาเสนอวันนี้ ไม่ใช่จังหวะเวลานำเสนอ จริง ๆ จังหวะเวลา กลับทำให้พรรคเพื่อไทย สบายขึ้น เพราะถ้าหากพรรคร่วมฯคิดตีตัวออกห่าง พรรคเพื่อไทยมีออปชั่นใหม่ คือให้ประชาชนมาหนุน เผลอ ๆ เป็นการนำไปสู่การจับมือของพรรคอันดับ 1 และ 2 ซึ่งเสถียรภาพก็ไม่มั่นคง เพราะ ปชน.ไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่มีเงื่อนไขคือยุบสภาฯเพื่อเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

เชื่อสารพัดคดีค้าง ไม่นำไปสู่ทางตัน

เมื่อถามว่า ที่บอกการเมืองยังไม่ตัน ได้รวมองค์ประกอบเช่น กรณีฮั้ว สว. กรณีองค์กรอิสระ กรณีปัญหาชายแดน ไปรวมแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องอื่น ๆ ไม่ได้มีแค่เรื่องเหล่านี้ เอาเฉพาะการเมือง คดี 44 สส.ก็ค้างอยู่ คดี ครม.ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ก็ค้างอยู่ มันเยอะแยะไปหมด แต่กำลังจะบอกว่า ในปีกว่า ๆ ที่เหลือ ถ้าสามารถประคับประคองให้สภาฯอยู่จนครบ หรืออะไรดลบันดาลใจให้นายกฯ ใครก็แล้วแต่ในช่วงนั้นยุบสภาฯ เราก็จะไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการคลายหลายสิ่งอย่าง แต่ที่พูดอยากบอกว่า นี่พูดน้อยมาก คือไม่ตัน แต่ไม่ได้ไปไหน เอาเข้าจริง ๆ ถ้าผ่าทางตันให้ประเทศ ไม่ผ่าให้ครอบครัว ให้พรรค เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า กติกาหลายอย่างวันนี้มีปัญหา เพียงแต่ที่ผ่านมาจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องกติกา มันหาจุดพอดีไม่ได้ และด้วยความหวาดระแวงที่แต่ละฝ่ายมีต่อกัน มันเดินไม่ได้

ถ้าจะเอาซีกของพวกเรียกร้องว่า ต้องตั้ง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ก็ติดเงื่อนไขเรื่องกฎหมายประชามติ แม้คลายแล้ว แต่อย่างน้อยต้องทำประชามติอีกหลายครั้ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเปลี่ยนแปลงจาก 3-4 ปีที่ผ่านมาคือ คนเคยสนับสนุนแนวคิดนี้ มันลดลง เพราะคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ มีการตัดสิน เกิดปรากฎการณ์ที่ สังคมมีความรู้สึกว่าศาลตัดสินเรื่องพวกนี้ด้วยเหรอ พอเกิดกระแสนี้ 2 พรรคใหญ่ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เสนอแก้รัฐธรรมนูญเลย เอาเรื่องแก้จริยธรรมออกไป กระแสสังคมตีกลับทันที ถึงแม้จะไม่อยากให้ศาลมาทำ แต่ก็ไม่อยากให้ยกเรื่องจริยธรรมออกไป ทำให้เกิดความหวาดระแวงว่า ที่นักการเมืองอยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องการไม่มีกรอบ ข้อจำกัดตรงนี้หรือไม่

ถ้าถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บรรยายมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ปัญหาเราคือ การให้ศาลมาชี้เรื่องจริยธรรมมันผิดฝาผิดตัว การตีความจริยธรรมไม่ง่าย ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์การพิจารณาของศาล คิดเรื่องการมีพยานหลักฐาน ปราศจากข้อสงสัย แต่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือการรับผิดชอบทางการเมือง หมายความว่า คนละมาตรฐานกัน ถ้าอยากผ่าทางตันประเทศ ต้องเรียนรู้จากอดีต ทำไมเรื่องนี้อยู่ ๆ มาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

วันก่อนสนทนากับ ผอ.สำนักข่าวญี่ปุ่น เขาก็ถามตนว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องนี้ ตนบอกว่า แต่ละคดีไปศาล ถ้าเป็นที่อื่นควรลาออกตั้งแต่วันแรกแล้ว พูดง่าย ๆ ถ้าเราไปดูในระบบรัฐสภา ทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ เราเอามาแต่กติกา แต่ไม่เอาประเพณี ไม่เอาวัฒนธรรมทางการเมืองมาด้วย โดยนักการเมืองต่างประเทศที่ลาออกจากตำแหน่ง ให้เหตุผลเกือบหมด คือ สังคมไม่ควรเสียเวลากับเขา และเขาต้องทำเพื่อรักษาสภาฯ รักษาระบบประชาธิปไตย อันนี้คือหัวใจสำคัญว่า ระบบต้องสำคัญกว่าบุคคล แต่ของเราทุกคนคิดว่า ขาดฉันไม่ได้ ถ้าตนไม่ทำ ใครจะทำ อะไรทำนองนี้

ต่อมาหากบุคคลไม่ทำ ใครทำ พรรคที่เขาสังกัดต้องทำ เพราะเราดูอังกฤษ ออสเตรเลีย เปลี่ยนนายกฯกี่คน คนที่เป็นนายกฯ ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่แนวทางของพรรค แต่ปัญหาของไทยคือพรรคเป็นของบุคคล กลไกนี้ก็ไม่เกิด ถัดไป กรรมาธิการ (กมธ.) จริยธรรมของสภาฯ ที่เอาคนอิสระมาสอบสวนข้อเท็จจริง แค่เสนอออกมาให้เห็นว่า มีความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น

“ของเราเคยมี กมธ.จริยธรรม สภาฯ แต่ลงโทษใครไม่ได้เลย นี่คือที่มาว่าทำไมไปศาล แล้วพอมีการเขียนกฎหมายแล้ว จะไม่ทำตามกฎหมายก็ไม่ได้ บังเอิญประมวลจริยธรรมฯ อ่านแล้วควรจะหนาวเลย เพราะเขียนละเอียดจริง ๆ เมื่อผิดแล้ว ไปเถียงว่าไม่ผิดยาก ถ้าจะผ่านทางตัน เราก็บอกว่า ระบบการเมืองมีปัญหาหมด องค์กรอิสระที่ขาดความศรัทธา ไม่อิสระจะแก้อย่างไร วุฒิสภาควรมีหรือไม่ อะไรทั้งหมด ต้องเปิดใจเข้ามา และทำใจก่อนว่า ความคิดเขียนเช็คเปล่าว่า เอาไปเลือกคนมาเขียน ความหวาดระแวงจะทำให้ไม่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เผยวิธีผ่าทางตัน ทุกพรรคต้องเปิดใจเข้าหากัน หาฉันทามติ แก้ไข รธน.

ดังนั้นการจะผ่านทางตัน คือ ทางแรก พรรคการเมืองต้องเปิดใจเข้าหากันก่อนว่า รัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ จะตอบโจทย์หรือไม่ เชิญฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาว่าต้องการอะไร แม้บางพรรคจะไม่อยากแก้ เพราะอาจได้ประโยชน์ แต่ก็ได้เพียงบางสถานการณ์ บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ของแบบนี้ ไทยผ่าทางตันไม่ได้ ถ้าไม่ยอมหาฉันทามติในเรื่องพื้นฐานสุดของสังคม กระบวนการเดิม เราหวังว่าถ้ามี สสร. ก็อาจใช้กระบวนการนั้น พอเกิดความหวาดระแวงอีก สสร.มาจะอิสระจริงหรือไม่ ก็มีทางแก้ เช่น มี TOR ได้หรือไม่ ขอบเขตของรัฐธรรมนูญที่จะร่าง ห้ามแก้ หรือต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น จริยธรรม เรื่องสำคัญต้องมีกลไกที่ชัดเจน ทำงานได้ เป็นอิสระ เป็นต้น อย่างน้อยมีกำกับ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ หายไปเลย หรือถึงศาล อะไรแบบนี้ แม้แต่หมวด 1-2 คืออย่ามาทะเลาะกันว่า แก้ได้ หรือห้ามแก้ จริง ๆ หมวด 1-2 แก้ให้ดีขึ้นก็ทำได้ แต่คนที่เรียกร้องให้แก้อยากแก้อะไร

ทางที่สอง เราใช้วิธีการแก้ที่ใช้คำว่า รายมาตรา แต่แก้เกือบทุกมาตราก็ได้ แล้วมันจะได้เห็นอย่างโปร่งใสว่า ที่กำลังแก้อยู่นั้น มันต้องปรากฏในร่างที่สภาฯพิจารณา และโดยที่การแก้ส่วนนี้ เกี่ยวข้องกับมาตราที่รัฐธรรมนูญบังคับให้ทำประชามติอยู่ดี อย่างน้อยมีหลักประกันให้ประชาชนมีโอกาสเห็นชอบหรือไม่ อย่างน้อยตอนยกร่าง ทำเหมือน กมธ.วิสามัญฯ เชิญฝ่ายต่าง ๆ ในสภาฯเข้าไปทำด้วย

“ถ้า ปชน.ติดใจ ล้างมรดกบาป คสช.ไม่ได้ ถ้าติดใจแบบนั้น เวลาเขียนเหตุผล ต้องบันทึกอยู่แล้วว่า การแก้ไขครั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีที่มาที่สังคมไม่ยอมรับ ไม่ชอบธรรม ก็เขียนได้ ทุกเรื่องมีทางออก แต่เราไม่ยอมเปิดใจคุยกัน ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่น ไม่ซ้ายก็ขวา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ยันต้องแก้ไขทั้งระบบ-ตัวบุคคล ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์

นายอภิสิทธิ์ หัวเราะเมื่อถูกพิธีกรแซวว่า มีลุ้นนั่งประธาน สสร.หรือไม่ ก่อนกล่าวว่า นี่ก็นับเป็นอีกปัญหาของไทย โยงทุกอย่างไปตัวบุคคล จริง ๆ คือเรื่องระบบ ถ้าเดินแบบนี้ คิดว่ามีทางออก ก็เป็นพื้นฐานสำหรับทางออกด้านอื่น ๆ ถ้ามี สสร. ต้องมี TOR แต่ถ้าไม่ไปทางนั้น ก็แก้รายมาตราให้หมด แต่ต้องเปิดให้สังคมมั่นใจ โปร่งใสกันทุกฝ่าย

ส่วนคำถามว่านักการเมืองคือทางตันหรือไม่ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าคนไม่เกี่ยว บุคคลมีส่วนสำคัญทั้งสิ้นที่นำมาสู่ทางตัน เวลาอธิบายต่างประเทศ บอกเผอิญเรามีคนไม่เก่งไปเขียนกฎหมาย แต่เรามีคนที่เก่งในการทำผิดกฎหมาย ปัญหาถึงเกิด เพราะฉะนั้นมัน 2 ส่วน กติกาต้องมีขึ้น และต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้เกิดอาชีพใหม่คือ “นักร้อง” เห็นด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีมานานแล้ว และไม่ได้คิดว่ามีอิทธิพลขนาดนั้น นักร้องทั้งหลายถ้าเรื่องไร้สาระจริง ๆ ไม่เชื่อว่าจะไปได้สุดทาง แต่คนถูกร้องก็รำคาญ แต่ไม่ค่อยเห็นเรื่องไหนที่ไร้สาระมาก แต่ไปจนสุด อย่าลืมอีกอย่าง เวลาวัดความสามารถประเทศทางการเมือง ไม่ได้มีดัชนีแค่ ปชต แต่มีดัชนีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายด้วย ซึ่งไทยก็แย่ลงเรื่อย ๆ ดังนั้นควรต้องแก้ทั้งระบบ และบุคคล

“เราเห็น ๆ อยู่คดีที่ค้างอยู่ ส่วนหนึ่งพิสูจน์ว่ากฎหมายเราศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ไม่บังคับใช้อย่างเสมอภาคกัน นี่คือปัญหา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งในฐานะ “เสมียนประเทศ” หรือ “สทร.” มองว่าจะนำประเทศไปสู่ทางตันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่อยากมีปัญหา และไม่เป็นธรรมเพราะนายทักษิณไม่อยู่ที่นี่ แต่ต้องบอกว่านายทักษิณ ในฐานะอดีตนายกฯ ในฐานะพ่อ ทำหน้าที่ในขอบเขตได้ ไม่มีใครว่าอะไร ขอบเขตคือ เป็นอดีตนายกฯ อาจให้ความเห็น แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ภาษาที่ใช้เวลาพูด ไม่ใช่บอกว่า ตนเห็นแบบนี้นะ สั่งคนนั้นคนนี้ มันไม่ใช่ภาษา มันไม่ใช่ขอบเขตที่เหมาะสม จะบอกไม่ให้พ่อแนะนำลูก เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ใช่ลูกยังไม่ทันรู้ พ่อบอกอย่างนี้ ลูกทำตามทันที

“อย่างสมัยผม เวลาคนอยากจะมาบอกอะไร ไปบอกพ่อผมดีไหม พ่อบอกว่า เขาไม่ฟังผมตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว มันก็จบแล้ว คือไม่ว่ากัน และเป็นไปไม่ได้ที่พ่อไม่คุยกับลูก แต่พูดตรง ๆ เถอะ หลายเรื่อง สังคมวันนี้ที่ดูแปลกประหลาด เรื่องเห็นง่าย ๆ เราไม่ยอมรับความจริงกัน อย่างคดีครอบงำหรือไม่ ไม่รู้กี่เหตุการณ์ที่บ่งบอกอะไร ไม่อยากไปถึงเรื่องป่วยหรือไม่ ระบบความรับผิดชอบไม่เกิดขึ้น เพราะพรรคการเมืองต้องฟังใครก็แล้วแต่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงบทบาทของ “เสมียนประเทศ” ด้วยว่า ถ้าหากจะถอนตัว ที่เสียหายไปแล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีใครสายเกินไปหรอก ถ้าคนจะกลับใจ ของที่ผ่านมาแล้วก็รับผิดชอบไป ส่วนเรื่องดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวาน ตนไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ถามว่านายทักษิณจำเป็นต้องไปหรือไม่ ความจำเป็นคืออะไร คำแนะนำ นายทักษิณมีประสบการณ์บริหาร แนวคิดเศรษฐกิจ มีวิธีการที่พูดได้ ที่ไม่ใช่การมาเกินขอบเขต ไม่รู้ว่ามีเรื่องสั่งการ ครอบงำ หรืออะไร พูดตรงไปตรงมา ก็บอกอย่างเดียว ถ้าตนมีเสมียนอย่างนี้ ก็ไล่ออกไปนานแล้ว เพราะทำเกินขอบเขต

มองเสียงปริ่มน้ำจะเป็นทางตันของรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องเสียง สมัยตนปริ่มกว่านี้ด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่าทำหน้าที่หรือไม่ ประสบการณ์ตน เวลาปริ่มน้ำ สส.ขยันขึ้นเรื่ออัตโนมัติ เป็นเรื่องของสำนึก ระบบอีกอย่างที่พยายามพูดคือ รัฐมนตรี กับนายกฯ ต้องให้ความสำคัญกับสภาฯ เราเป็นประเทศเดียวที่อ้างว่าใช้ระบบสภาฯ แต่นายกฯไม่มาสภาฯ อ้างว่าไม่เป็น สส.ไม่ได้ ต้องมาตอบกระทู้ทุกสัปดาห์

สมัยผมประชุม ครม.นัดแรก ผมบอกเลยมีกฎเหล็กกี่ข้อ เราอยู่ระบบรัฐสภา รัฐมนตรีต้องไปสภาฯ ข้อดีคือ แสดงความรับผิดชอบ เขาถาม เราก็ตอบ แม้จะไม่เป็น สส. เพราะรัฐมนตรีมีเอกสิทธิ์ชี้แจงสภาฯทุกเรื่อง ส่วนการพิจารณากฎหมาย ญัตติ เป็นช่องทางให้รัฐมนตรีไม่ฟังข้อมูลราชการฝ่ายเดียว สังเกตหรือไม่ นักการเมืองหลายคนอยู่สภาฯเข้าใจ สส.เข้าใจรุ่นพี่รุ่นน้องหมด พอเป็นรัฐมนตรีปั๊บ พูดคนละภาษา ฟังราชการอย่างเดียว ต้องยอมรับว่า ข้อมูลประชาชน กับราชการ ต่างกันเสมอ การไปสภาฯคือการได้ข้อมูลมาถ่วงดุลกัน

“ผลพลอยได้ สส.อยากเจอรัฐมนตรีอยู่แล้ว ถ้ารัฐมนตรี นายกฯ อยู่สภาฯ สส.ก็ไปสภาฯ นี่คือปัญหาว่า ถ้าคุณเป็นนักการเมือง และมีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร อยู่กับราชการสบาย นายถูกหมด พอไปเจอ สส.น่ารำคาญ อย่างนั้นไม่ควรเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่บอกว่า กติกาอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเพณีวัฒนธรรมที่ต้องสร้าง เราไม่อาจสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เข้าใจฝ่ายที่เรียกร้อง อย่าง ปชน.ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่า เขามองข้ามมิติประเพณี วัฒนธรรมทางการเมือง ทำไมบางเรื่อง เอาระบบมาแล้ว แต่ไม่เป็นอย่างนั้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ไม่เชื่อ ‘สิงหาเดือด’ พาถึงทางตัน ทุกอย่างมีทางออก

ส่วนเรื่อง “สิงหาเดือด” เพราะมีสารพัดคดีที่เข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ เช่น คดีชั้น 14 คดีคลิปเสียง นายกฯ คลิปฮั้ว สว. คดี ครม.ตามมาตรา 144 เป็นต้น มองว่าจะเป็นทางตันของประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ อธิบายแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

1.คดีชั้น 14 กรณีการบังคับโทษนายทักษิณ ต้องถามคดีชั้น 14 เกี่ยวอะไรกับกลไกของรัฐบาล คดีชั้น 14 เป็นเรื่องของคดีบุคคล ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรทั้งนั้น ในฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายไหน และเป็นเรื่องที่ศาลตัดสินใจว่าจะข้อไต่สวนว่า บังคับใช้กฎหมายหรือไม่ การที่พูดว่า คดีนี้มีผล แสดงว่าระบบมันบิดเบี้ยว

ส่วนที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เรากำลังต้องการว่ากฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนี้น่าเสียดาย หลายคนไม่มีบทเรียนจากอดีต ในอดีตมีข้าราชการที่เป็นคนคุณภาพหลายคน จบชีวิตราชการด้วยการปลดออก ไล่ออก ดำเนินคดี เพราะจำนนต่อความต้องการฝ่ายการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราทำให้เห็นว่า ในที่สุดนักการเมืองไม่สามารถคุ้มครองเราได้ คุณต้องกลัวกฎหมายมากกว่ากลัวนักการเมือง ถ้าเราทำสำเร็จ ต้องผ่าทางตัน

2.กรณีคลิปเสียงนายกฯ อย่างที่บอกตอนต้นว่า ถ้านายกฯหลุด ก็เลือกนายกฯใหม่ ส่วนคดีมาตรา 144 ตนไม่ได้เห็นรายละเอียดคำร้องทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องเทคนิคพอสมควร ถ้าไปเกี่ยวพันกับคนจำนวนมากเกือบทั้งสภาฯ ไม่ทราบรายละเอียดเอาผิดคนเหล่านี้ทั้งหมดได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามสมมติว่า คนบอกระเบิดลูกใหญ่ลงล้างเลย สส. 100-200 คนหาย มันไม่หายไปไหนนะ หายเสร็จก็เลือกตั้งซ่อม

3.ส่วนกรณี สว.ถ้าในที่สุด เราบอกว่า การเลือก สว.ที่ผ่านมาไม่สุจริต ก็เลือกกันใหม่

“กำลังจะบอกว่า สิ่งสำคัญมากกว่าคือทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราไม่กลัว เราก็มีอย่างนี้ไง ถ้าพยายามซิกแซก สุดท้ายย้อนกลับมาเป็นปัญหาหมด ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราจะมีความชัดเจนขึ้นว่า กฎกติกาเป็นอย่างไร ถ้าบอกว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แล้วกฎหมายไม่ดี ก็แก้กฎหมาย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ตอบไม่ได้มีรัฐประหารอีก แต่ขอสังคมอย่าไปถึงจุดนั้น

ส่วนคำถามที่ว่า สังคมกติกาการเมืองแบบนี้ โอกาสเกิดรัฐประหารยังมีอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีใครในไทยกล้ายืนยัน เราไม่ได้หมายความว่าอยากหรือไม่ เราประเมินว่าเกิดหรือไม่ ผู้มีอำนาจทำบอกไม่ทำ ก็เห็นทำทุกครั้ง สิ่งที่อยากย้ำคือ สังคมทบทวนอดีต แล้วทบทวนให้ครบ

1.เราก็เห็นชัดแล้วว่า รัฐประหารแต่ละครั้ง ในที่สุด อย่างเก่งที่สุดคือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่วุ่นวายอยู่แล้วจบ แต่แก้ปัญหาให้ประเทศระยะยาวไม่ได้ แถมทิ้งมรดก กฎกติกา ยาวมาถึงวันนี้อีก 8-9 ปี นี่เป็นบทเรียนที่หวังว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ไปนอกระบบ

2.ที่ต้องคิดด้วยคือ ถ้าเราไม่หลอกกัน รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา อารมณ์ที่จับได้วันเกิดรัฐประหาร เอาเป็นว่าโล่งใจ มันจบสักที คำถามคือ ถ้าไม่อยากให้ถึงจุดนั้น คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักการเมืองรีบหาทางออกที่ทำให้สังคมเดินได้ อย่าไปเกิดเช่นนั้น

“ยกตัวอย่าง 2 ครั้งที่ผ่านมา เอาครั้งสุดท้ายปี 2557 ผมอยู่ในห้องด้วย โดยแต่ละพรรคมีความพยายามหาคำตอบ ผมเสนอว่า หลายประเทศประชาธิปไตย เวลาเกิดทางตัน เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน พรรคการเมืองจะตกลงกันว่า มีอะไรชั่วคราว ที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ แล้วปูทางไปสู่การเลือกตั้งได้หรือไม่ มันจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องยินยอม ฝ่ายที่มีอำนาจต้องยินยอมคือ ลาออก แต่เขายืนยันว่าเขาไม่ออก สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) ยึด ผมพยายามบอกว่า ทุกวันนี้สื่อ และใครก็ตาม เหตุการณ์นี้กำลังจะไปหรือไม่ คุณก็อย่าพาไปถึงจุดนั้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ถามย้ำว่า แล้วมีตัวแปรที่จะไปถึงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พูดง่าย ๆ ว่า พอเกิดคลิปเสียงนายกฯ สมมติว่า วันแรกหรือวันถัดมาเลย นายกฯยืนยันว่า เป็นเทคนิคนู่นนี่นั่น แต่เนื่องจากเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นแล้ว ขอลาออก แล้วพรรคร่วมรัฐบาล ไปคุยกันว่าจะเลือกใคร หรือเลือกนายชัยเกษม กลับเข้ามา ก็จะคลี่คลายไปเยอะ วันนี้จะแปลกประหลาดว่า ประเทศมีปัญหาชายแดนแบบนี้ เราพร้อมมีนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ปรับ ครม.ไม่มี รมว.กลาโหม และไม่เห็น รมว.ต่างประเทศ มีบทบาท ที่บอกมาถ่วงดุล เลยกลายเป็นเหมือนมีสุญญากาศ แต่ละวันมีแต่ข่าวสุ่มเสี่ยงมากขึ้น การปะทะกันหรือไม่

“ถ้าทำตั้งแต่วันแรก จะไม่มาถึงตรงนี้ แต่มาถึงตรงนี้ มีช่องทางถอดสลักอะไร ก็ยังทำได้ พรรครัฐบาลก็เข้ามา ถ้าทำเร็ว สิ่งที่จะต่างกับตอนนี้คือ ทำเร็วปัญหาจะกลายเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่มาถึงวันนี้เริ่มลาม กลายเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมถอนตัว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนประเด็นคลิปเสียงนายกฯ จะเป็นตัวแปรไปสู่รัฐประหารใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่ายังไม่ใช่ เพราะมีทางออกตามระบบ แต่นักการเมืองต้องตระหนักว่า อย่าปล่อยให้กระแสสังคมลุกลาม ปิดทางออกไปเรื่อย ๆ

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

เกร็ดควรรู้...แล้วจะดู The Fantastic Four: First Steps สนุกขึ้น

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

อสังหาฝากผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ปลดล็อกนโยบายการฝ่าวิกฤติหนี้

5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

'สุรเดช' ยกคำ 'บิ๊กป้อม'ตอบโต้ กัมพูชา สมน้ำสมเนื้อ ทหารไทย เหยียบกับระเบิด

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

'ยุโรป' ตามรอยสหรัฐ ขึ้นค่าธรรมเนียมเข้าเมือง 3 เท่า! ในระบบ ETIAS

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม