อสังหาฝากผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ปลดล็อกนโยบายการฝ่าวิกฤติหนี้
หลังการแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ มีผลวันที่ 1 ต.ค.2568 ภายใต้ภารกิจเร่งด่วนและความท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่วิกฤติหนี้ครัวเรือน ไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจไทยเปราะบาง และความคาดหวังจากหลายภาคส่วน
โดยเฉพาะ “ภาคอสังหาริมทรัพย์” ที่มองว่า ถึงเวลาที่นโยบายการเงินของ ธปท. ต้องเพิ่มบทบาทจาก “ผู้รักษาเสถียรภาพ” เป็น “ผู้นำขับเคลื่อนการฟื้นตัว” อย่างเต็มตัว พร้อมใช้เครื่องมือ “การคลัง+การเงิน” อย่างสอดประสานกับรัฐบาล เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากหนี้พอก หนี้เสีย ไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้
อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ย้ำว่า ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ต้องตระหนักว่า “วิกฤติวันนี้” ไม่ใช่สถานการณ์ปกติของวงจรเศรษฐกิจทั่วไป หากแต่เป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ที่หนักหนากว่าปี 2540 ด้วยซ้ำ!
“เราต้องยอมรับว่าวิกฤติวันนี้ หนักกว่าที่เราเคยเจอในปี 2540 ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำตามรอบปกติ แต่คือปัญหาสะสมจากหลายปี ตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 สงครามการค้า ปัญหาการเมือง และภาระหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน”
นี่จึงไม่ใช่วิกฤติที่จะแก้ได้ด้วยรัฐบาลฝ่ายเดียว ต้องมี “แบงก์ชาติ” เข้ามาช่วยอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้เสีย การจัดชั้นหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคประชาชนและธุรกิจ
ธปท. ควรผ่อนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประนอมหนี้กับลูกค้าได้ง่ายขึ้น ลดแรงกดดันจากการตั้งสำรอง และช่วยให้ระบบยังเคลื่อนไหวต่อได้
“ธนาคารเองก็ไม่อยากได้หนี้เสียเพิ่ม แต่ถ้าระบบยังไม่ผ่อนเกณฑ์ ทุกฝ่ายก็จะแพ้หมดทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้”
ดังนั้น ธปท. ต้อง “ยืนอยู่แถวหน้า” คู่กับรัฐบาลในการร่วมแก้หนี้ ไม่ใช่ยืนอยู่ข้างหลังคอยควบคุมเท่านั้น โดยเฉพาะการ “ผ่อนปรนหลักเกณฑ์จัดชั้นหนี้” ที่จะช่วยลดต้นทุนธนาคารและเพิ่มความยืดหยุ่นในการเจรจาประนอมหนี้กับลูกค้า
มุมมองใหม่จากคนที่เข้าใจ “ฐานราก”
"ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความหวังกับนายวิทัย เพราะเคยผ่านบทบาทสำคัญในธนาคารออมสิน ซึ่งใกล้ชิดกับลูกค้าระดับฐานราก ผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี ไปจนถึงสินเชื่อรายบุคคล กล่าวได้ว่ามีประสบการณ์เชิงลึกกับประชาชนระดับล่าง เชื่อว่าจะเข้าใจสถานการณ์จากฐานรากได้ดี”
เชื่อว่ามาตรการการเงินผ่อนคลาย โดยเฉพาะ "การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นในยุคนายวิทัย ในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติ จะเป็นผลดีทั้งในด้านต้นทุนธุรกิจ การบริโภค และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อ
“ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่แค่ช่วยธุรกิจ แต่มีผลทางจิตวิทยา ทำให้คนกล้าตัดสินใจซื้อของใหญ่ๆ อย่างบ้านด้วย”
“ซิงเกิลคอมมานด์”การคลัง+การเงิน
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย สะท้อนมุมมองว่า การแก้วิกฤติต้องการความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
“เราต้องการ ซิงเกิลคอมมานด์ ระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลัง เพื่อทำงานเป็นทีมเดียวกัน เหมือนหน่วยบัญชาการพิเศษในการกู้วิกฤติประเทศ”
เชื่อว่า นายวิทัย จะสามารถทำงานร่วมกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง
“วันนี้เราไม่สามารถยึดเสถียรภาพแบบดั้งเดิมเป็นหลักได้อีกต่อไป เสถียรภาพต้องเท่ากับ ‘ปากท้องประชาชน’ ที่คนต้องมีกิน มีใช้ก่อน”
เงินสำรองมีแต่เศรษฐกิจแห้งแล้งได้เวลาปลดล็อก
กูรูภาคอสังหาริมทรัพย์ต่างเห็นตรงกันด้วยว่า “ความมั่นคงทางการเงิน" ของไทยไม่ใช่ปัญหา! หากแต่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะ เงินสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในระดับแสนล้านดอลลาร์ ยังไม่สอดรับกับปัญหาปากท้อง
“เงินสำรองเรามีเยอะ แต่คนไม่มีข้าวกิน แบบนี้เสถียรภาพไม่เกิดขึ้นจริง”
ดังนั้น แนวทางสำคัญ นั่นคือ การจัดการภาระหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน การเปิดช่องให้ธนาคารแข่งขันมากขึ้นผ่านการเปิดผู้เล่นใหม่ และการฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค คือ เครื่องมือที่ควรนำมาใช้ในเชิงรุกอย่างมีจังหวะ โจทย์ที่รอ “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” คนใหม่ ไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่คือความกล้าในการเปลี่ยนแนวทาง!
“ถ้ายังทำแบบเดิม เราจะได้ผลลัพธ์แบบเดิม แต่ปัญหาวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว”
ไม่ใช่แค่การลดดอกเบี้ย หรือผ่อนเกณฑ์การเงินเท่านั้น แต่คือการ “คิดใหม่ ทำใหม่” แบบเบ็ดเสร็จร่วมกับรัฐบาลในเชิงนโยบาย สิ่งที่ 2 กูรูจากภาคอสังหาริมทรัพย์ฝากการบ้านถึง “นายวิทัย รัตนากร” จึงไม่ใช่แค่ความรู้เชิงเทคนิคด้านเศรษฐศาสตร์ แต่คือ “ความกล้า” และ “วิสัยทัศน์” ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ!
การเข้ารับตำแหน่งของ “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนคนใหม่ แต่คือโอกาสสำคัญของประเทศที่จะเปลี่ยน “บทบาท ธปท.” จากผู้คุมเสถียรภาพ มาเป็น “ผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง” อย่างแท้จริง!