ไทยจ่ายอ่วม! ‘เบาหวาน’ 2 หมื่นล้าน/ปี เร่งคัดกรอง ช่วยลดโรค NCDs
"โรค NCDs (Non-Communicable Diseases)" หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยและทั่วโลก โดยประชากรโลกเสียชีวิตประมาณ 41 ล้านรายต่อปี ประชากรไทยเสียชีวิตประมาณ 4 แสนรายต่อปี และNCD ยังทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทย ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี (คิดเป็น 9.7% ของ GDP ประเทศไทย)
สำหรับ โรคเบาหวาน มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 6.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยเบาหวานใหม่ ปีละประมาณ 350,000 ราย ปัจจัยที่ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายและการเพิ่มขึ้นของภาวะอ้วน ไทยต้อง เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
อีกทั้งจะต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก อาทิ กรณีไตวายเรื้อรัง เพิ่ม 400,000 ถึง 500,000 บาทต่อรายต่อปี กรณีมีการตัดขา เพิ่ม 150,000 ถึง 300,000 บาทต่อรายต่อปี กรณีเกิดตาบอด เพิ่ม 50,000 ถึง 100,000 บาทต่อรายต่อปี ตามที่ WHO ได้กำหนดเป้าหมาย ในการลดอัตราตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCD ให้ได้ 25% ภายในปี 2020 แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดูแลเบาหวานด้วยดิจิทัลโซลูชัน รู้ไว รักษาได้ ช่วยให้โรคสงบ
ลดอ้วน สยบเบาหวาน น้ำหนักลด 10-15% ช่วยป้องกันโรคร้ายได้
ผู้ป่วย NCDs เสียชีวิต 400,000 รายต่อปี
โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ร่วมกับโนโว นอร์ดิสค์ แถลงข่าว “การดำเนินโครงการเพื่อความเป็นเลิศด้านโรค CRM (Cardio-Renal-Metabolic) และบทสรุปความสำเร็จโครงการ Affordability Project" ณ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ 13 เขตสุขภาพ 800 กว่าคนเข้าร่วม
โดยมีนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน พร้อมปาฐกถา “บทบาทของกรมการแพทย์ด้านการพัฒนาระบบการดูแลรักษา รับส่งต่อ และคลินิกเชื่อมต่อ โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคอ้วน” ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ คศ. 2005 โดยมีประชากรที่อายุ มากกว่า 60 ปี มากกว่า 20% และอาจจะเพิ่มถึง 35% ใน คศ. 2050 โดยโรค NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น
“โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณ 400,000 รายต่อปีในประเทศไทย คิดเป็น 81% ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงอายุ 30 ถึง 70 ปีโดยในส่วนของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง 3,761,208 คน ควบคุมระดับความดันโลหิต ตามเป้าหมาย 48.31% อีกทั้งคาดการณ์ว่าโรคอ้วนจะส่งผลกระทบต่อ GDP มากกว่า 4.9% ภายใน คศ. 2060 หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายโรคเบาหวาน คิดเป็น 3% ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
4 ปัจจัยดูแลรักษาโรคไม่บรรลุผล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันความชุกของกลุ่มโรค CRM ซึ่งประกอบด้วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคไต เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้ และการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ด้วยการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพและบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่าย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเป็นไปได้อย่างครอบคลุม
“การดูแลรักษาโรคในปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาหลัก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของความชุกโรคเบาหวาน 2. การขาดความรู้และความเข้าใจในผู้โรคเบาหวาน รวมถึงการไม่มีระบบการให้ความรู้อย่างเป็นรูปธรรมในสถานพยาบาล 3. การควบคุมระดับน้ำตาลและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย และ 4. การขาดองค์ความรู้ในการทำให้เกิดเบาหวานระยะสงบ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ตระหนักรู้ ดูแลตัวเองห่างไกลโรค
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค NCDs และกลุ่มโรค CRM โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งต่อให้เบาหวานเป็นโรคที่ป้องกันได้ มียารักษาจำนวนมาก หรือทำให้เบาหวานสงบได้ แต่มีผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา 13.9% ของผู้เป็นเบาหวานทั้งหมด และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นเบาหวานได้รับการรักษาอยู่ มีเพียง 26.3% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่าการที่มีผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน เกิดจากการไม่ตระหนักถึงอาการและความเสี่ยง ทำให้ตรวจคัดกรองล่าช้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคเบาหวาน
“รพ.ราชวิถี” ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศโรค NCDs
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าโรงพยาบาลราชวิถีมีความมุ่งมั่นในการตอบสนองยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมการแพทย์ สำหรับการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 3 ในพัฒนาแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพให้มีความเชี่ยวชาญและเพียงพอกับความต้องการของประเทศ
“โรงพยาบาลราชวิถีเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ (Medical Institutes) ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมที่เป็นเลิศด้านการแพทย์และพยาบาล (COE Training Center) โดยทางโรงพยาบาลพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำทางด้าน Cardio-Renal-Metabolic (CRM) ของประเทศไทย เพื่อให้คุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นไปได้อย่างครอบคลุม”นพ.จินดา กล่าว
ผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย
ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ และประธานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าปัจจุบันแม้มาตรฐานการรักษากลุ่มโรคNCDs โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงยารักษาหรือเข้าใจในสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาล และไม่ได้รับตรวจคัดกรอง จนทำให้เป็นเบาหวานและมีภาวะแทรกซ้อน อาทิ โรคไต หรือโรคหัวใจเกิดขึ้น
“โครงการ Affordability Project ที่รพ.ราชวิถี ได้ทำร่วมกับโนโว นอร์ดิสค์ มีการอบรมให้แก่บุคลากรในรพ.ราชวิถีและโรงพยาบาลใน 13 เขต สุขภาพ ประมาณ 7,000 คน และกลุ่มที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มงวด 50 คน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการเทรนนิ่ง จะสามารถดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ถึงเป้าหมาย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนให้ได้มากขึ้น โดยผ่านกระบวนการสร้างทีมผู้ให้ความรู้อย่างเข้มงวดเพื่อให้สามารถดูแลตนเองอย่างยั่งยืน ทำให้มี KM : E-learning สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ระยะยาวและ มีการสร้างเครือข่ายผู้ดูแลเบาหวานมากกว่า 3,000 คน” ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
ภก.สรีน่า คริสต์โตดูลาคริส ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะเพื่อการเข้าถึงยาและความยั่งยืน โนโว นอร์ดิสค์ กล่าวว่า โครงการ Affordability Project ได้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการทำให้การดูแลเบาหวานเข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับคนไทย ซึ่งเกิดจากการผนึกความร่วมมือกับหุ้นส่วนในระบบสุขภาพของทางภาครัฐ เพื่อ สร้างสรรค์แนวทางแบบบูรณาการที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับโรคเบาหวาน
“โครงการนี้ยังมีผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประมาณการว่าโรคเบาหวานสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 375,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 2.2%ของGDP การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากเบาหวาน แต่ยังนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในระยะยาวได้อย่างมีนัยสำคัญ” ภก.สรีน่า กล่าวทิ้งท้าย