สคช. ระดมความเห็น ทุกอาชีพทั่วไทย จัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่ปี 69
น.ส.จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) เพื่อพัฒนาวางแนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2569 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาจากภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
โดยการจัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่มีเกณฑ์สำคัญใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ ต้องเป็นอาชีพที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลหรือยุทธศาสตร์ชาติ, ไม่เป็นอาชีพที่กฎหมายกำหนดหรือมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ และเป็นอาชีพที่มีคนทำงานอยู่ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพบริการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งบรรยากาศในการรับฟังความเห็นครั้งนี้มีผู้เสนอความเห็นที่หลากหลาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สคช.ปั้น '5 มาตรฐานอาชีพ' รองรับกำลังคนในตลาดแรงงานอนาคต
พัฒนาบุคลากรเกม มุ่งสู่มาตรฐานอาชีพ หนุน Soft Power ไทย
รับฟังความคิดเห็น ทุกกลุ่มอาชีพทั่วไทย
บรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ ในกลุ่มอุตสาหกรรม เสนออาชีพ นักวิเคราะห์ระบบอัตโนมัติ (SA) และ กลุ่มอาชีพผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน, สมาคมลิฟต์และบันไดเลื่อนแห่งประเทศไทยเสนอ อาชีพช่างลิฟต์ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีลิฟต์และบันไดเลื่อนในประเทศไทยกว่า 100,000 เครื่อง แต่ขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญ เนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย กลุ่มบริการ เสนออาชีพ นักสื่อสารด้วยภาพ, นักจัดการงานอาสาสมัคร
ปัจจุบันมีจำนวนอาสาสมัครสูงถึง 17 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, บรรณารักษ์, นักบริการกำจัดแมลง (Pest Control) และ ผู้ให้บริการทางโทรศัพท์ (Call Center) ซึ่งถูกมองว่าเป็นอาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความเสียหายให้ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีการนำเสนอ กลุ่มอาชีพด้านการจัดการความยั่งยืน, กลุ่มอาชีพงานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน ทั้งด้านการอนุรักษ์สืบสานและอาชีพที่สนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
"มาตรฐานอาชีพใหม่" ทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สคช. จะได้นำความคิดเห็นและข้อมูลที่ได้รับไปพิจารณา ก่อนที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มวิชาชีพเหล่านั้น มาประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อจำแนกสมรรถนะในรายละเอียดของแต่ละอาชีพและจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป
สำหรับการจัดสัมมนา Stakeholder Engagement จัดขึ้นประจำทุกปี เป็นเวทีหลักที่ สคช. เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ "มาตรฐานอาชีพใหม่" ให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมอาชีพหลากหลาย ที่สะท้อนความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่แข็งแกร่ง สร้างโอกาสในการพัฒนาและยกระดับให้กับกำลังคนของประเทศอย่างแท้จริง