ลุ้นคำวินิจฉัยศาลฯ สอบปมคลิปเสียง ไม่รับ ‘โล่ง’ ถ้ารับ ‘เสี่ยง’ กระทบเชื่อมั่นรัฐบาล
ในที่สุดกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย กรณีคลิปเสียง “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กับ “สมเด็จฮุน เซน” ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกฯ กัมพูชา ก็เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นทางการ หลังประธานวุฒิสภาเข้าชื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนและมีความเห็นว่า น.ส.แพทองธาร นายกฯ ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (รธน.) หรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังทำหนังสือถึงศาล รธน. ขอให้วินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกฯ ของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตาม รธน. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
โดยศาล รธน. นัดประชุมวันที่ 1 ก.ค. 68 ซึ่งคงต้องรอดูว่า จะมีวาระการพิจารณา หรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ในคำร้องของประธานวุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาล รธน. วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกฯ ของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตาม รธน. มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีปรากฏคลิปเสียงสนทนา กับสมเด็จฮุน เซน และในคำร้องยังขอให้ศาล รธน. มีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาล รธน. จะมีคำวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 82 วรรคสอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาล รธน. พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาล รธน. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี รธน. พ.ศ. 2562 ข้อ 40 (8) โดยกรณีนี้สามารถออกได้ 3 ทางคือ 1.ศาล รธน. ยังไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวหยิบยกมาพิจารณา เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน 2.ศาล รธน. หยิบยกมาพิจารณา และอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น สั่งรับ หรือไม่รับคำร้อง หรือสั่งเรียกข้อมูลเพิ่มเติม 3.ศาล รธน. หยิบยกมาพิจารณา แล้วเห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่มีมูล ให้คำร้องตกไป เป็นต้น
ขณะที่ย้อนไปเนื้อหาในการสนทนาระหว่าง นายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน ที่ถูกมองว่า เป็นปัญหาคือ
… "ไม่อยากให้ uncle (อา) ไปฟังคนที่เป็นฝั่งตรงข้ามกับเรา เพราะว่าพอไปฟังฝั่งตรงข้ามอย่างพวกแม่ทัพภาค 2 อย่างเนี้ยค่ะ เป็นคนของฝั่งตรงข้ามหมดเลย ซึ่งพอไปฟังอย่างนั้นเสร็จ ก็ไม่อยากให้ท่านรู้สึกไม่ชอบใจ หรือว่าโกรธ เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่ความตั้งใจของเราเลยค่ะ" … "เขาอยากจะดูเท่ เขาก็พูดอะไรออกมาที่มันไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติค่ะ"
หรือ… "บอกว่าจริงๆ แล้วถ้าท่านอยากได้อะไร ก็ให้ท่านบอกมาได้เลยค่ะ เดี๋ยวจะจัดการให้"… "จริงๆ แล้วท่านจะเอาอะไรจริงๆ ให้บอกอิ๊งค์ได้เลย ยกหูบอกก็ได้ อันไหนไม่เป็นข่าว ก็คือไม่เป็นข่าว อันนั้นที่หลุดไป มันหลุดเพราะสื่อ เพราะไม่ได้คุยกับอิ๊งค์แค่ 2 คน มันคุยกันเป็นกลุ่มนะพี่ มันเลยหลุดน่ะ แต่ถ้าคุยกับอิ๊งค์ 2 คน มันไม่มีหลุดอยู่แล้ว"…
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “แพทองธาร 1/2” หัวหน้ารัฐบาล จะนั่งควบ รมว.วัฒนธรรม อีก 1 ตำแหน่ง เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง น.ส.แพทองธาร ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ยังเหลือตำแหน่งรัฐมนตรีอีก 1 ตำแหน่งในการทำงานใน ครม. ดังนั้นจึงใช้โมเดลเหมือนสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ศาล รธน. สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ปมถูกร้องทำหน้าที่ครบ 8 ปีหรือไม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ ก่อนที่ศาล รธน. จะวินิจฉัยรอดจากคดี
ด้าน “นายสมชาย แสวงการ” อดีต สว. ให้ความเห็นว่า จะเอาไปเทียบกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่เคยถูกศาลฯ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตอนที่ถูกร้องว่า เป็นนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ เพราะศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในตำแหน่งนายกฯ เพื่อรอการวินิจฉัยเรื่อง 8 ปีเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยคุณสมบัติอื่น "พล.อ.ประยุทธ์” จึงทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ต่อไปได้ แต่กรณีของ "น.ส.แพทองธาร” ถูกร้องว่า ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม ตาม รธน. ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดังนั้นหากศาล รธน. สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน นั่นหมายความว่า ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในฐานะนายกฯ และ รมว.วัฒนธรรม ไปด้วยพร้อมกัน
ต้องยอมรับคำวินิจฉัยศาล รธน. จะมีผลต่อสถานะของนายกฯ แพทองธาร มากพอสมควร ถ้าไม่รับวินิจฉัยก็ถือว่าโล่ง ถ้ารับก็อยู่ในความเสี่ยง รวมถึงการให้พักการปฏิบัติหน้าที่ ก็ย่อมส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล ยิ่งผลสำรวจของ "นิด้าโพล" ก็พบคะแนนนิยมหัวหน้ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ก็ตกลงแบบไม่เคยมีมามาก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกประชาชน
ส่วนความพยายามยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหัวหน้ารัฐบาล หลังปรากฏคลิปฉาว "น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย" สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า พรรคได้ยกร่างญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไว้แล้วและจะเสนอพรรคฝ่ายค้าน ได้พิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอ ที่จะร่วมลงชื่อในญัตติฯ หรือไม่ ในเบื้องต้นได้รับแจ้งจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากนายกฯ มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่ออธิปไตย และดินแดนของรัฐ
สำคัญที่สุด คือ กระทบต่อจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งชาติ ที่ไม่อาจไว้วางใจให้นายกฯ บริหารประเทศต่อไปได้อีกแล้ว ซึ่งพรรคภูมิใจไทย เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ถ้านายกฯ ไม่ต้องการให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านท่านนอกสภา และเป็นเงื่อนไขที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครต้องการ ขอให้ใช้เวทีสภาเป็นเวทีชี้แจง เพื่อให้รัฐบาลได้รับความไว้วางใจ
ขณะที่ "นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านวันที่ 3 ก.ค. 68 ว่า การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เป็นหัวข้อที่ต้องคุยกัน ซึ่งก็ยังมีอีกหลายทางเลือก ที่เราจะสามารถใช้กลไกสภาในการตรวจสอบฝั่งรัฐบาล ยืนยันไม่ได้เห็นต่าง หรือคัดค้านการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จังหวะในการยื่น จะยื่นอย่างไรให้มีความแม่นยำมากที่สุด เนื่องจากในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ต้องรอฟังความชัดเจนเรื่องคดีของนายกฯ จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สามารถทำได้ 1 ครั้งต่อ 1 ปีสมัยประชุม หากเรายื่นตั้งแต่ตอนนี้ เท่ากับว่าถ้าจะมีการยื่นอีกครั้ง ต้องรอในช่วงเดือน ก.ค. ปีหน้า ต้องประเมินสถานการณ์อีกสักหน่อย
สำหรับ สส.ในสภามีทั้งหมด 495 คน หากจะยื่นญัตติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องใช้เสียง 1 ใน 5 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา นั่นคือ 99 เสียง โดยสองพรรคที่ร่วมลงชื่อคือ ภูมิใจไทย และ พปชร. 88 เสียง ขาดอีก 11 เสียง ดังนั้นต้องรอดูพรรคประชาชน จะร่วมด้วยหรือไม่
ส่วนอีกประเด็นการประชุมสภา วันที่ 3 ก.ค. วาระแรกที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอกับร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยขอย้ำในจุดยืนที่ชัดเจนอีกครั้งว่า ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม โดย "นายธนกร วังบุญคงชนะ" สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รทสช. ให้ความเห็นว่า ขอสนับสนุนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ "นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ยืนยันแล้วว่าต้องไม่รวมฐานความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ถือเป็นความมั่นคงแห่งรัฐตาม รธน. ซึ่งในฐานะ สส. เป็นตัวแทนของประชาชนคนไทย ต้องเป็นคนแรกที่ออกมาแสดงจุดยืนปกป้อง นอกจากนี้ใน ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรค รทสช. ที่ได้เสนอไว้ชัดเจนว่าต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดคดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรงด้วย แต่จะเป็นการนิรโทษกรรมแค่คดีทางการเมืองเท่านั้น
ด้าน "น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" สส.กทม. พรรค ปชน. ได้ให้ความเห็นในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากกรณีที่วิปรัฐบาลและสส.บัญชีรายชื่อของพรรค พท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเด็นที่สภาเตรียมจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในลำดับต้นทันทีที่เปิดสมัยประชุมว่า “ทุกฉบับจะต้องไม่มีเรื่องมาตรา 112” ว่า ขอยืนยันจุดยืนในฐานะ กมธ. สัดส่วนพรรค ปชน. ขอย้ำกับรัฐบาลนำโดยพรรค พท. ว่า การตัดคดีมาตรา 112 ออกจากร่างนิรโทษกรรม ไม่สอดคล้องกับหลักความสมานฉันท์ปรองดองและเจตนารมณ์หลักของการนิรโทษกรรม ท้ายที่สุดแล้ว หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมคดีมาตรา 112 สังคมจะยังเดินต่อบนความขัดแย้ง และสนามการเมืองต่อจากนี้จะถูกมองว่าการสลายขั้วการเมือง เป็นการพยายามรักษาอำนาจของชนชั้นนำซึ่งฮั้วกันอยู่เพื่อการแบ่งผลประโยชน์เท่านั้น ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ
“เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งรวมคดีตามมาตรา 112 เข้าไว้ด้วย และขอเน้นย้ำว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านหรือภาคประชาชนแต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเช่นกัน ที่จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล เพื่อนำพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งต่อไป” สส. พรรค ปชน. กล่าว
ต้องรอในที่สุดการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม จะรวมไปถึงมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะมีเพียงแกนนำพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว ที่เห็นควรให้ล้างผิดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสถาบัน.
"ทีมข่าวการเมือง"