เวียดนามแก้กฎเปิดทางถือ2สัญชาติ หวังดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติพัฒนาประเทศ
เวียดนามแก้ไขกฎหมายสัญชาติครั้งสำคัญ เพื่อให้ชาวเวียดนามในต่างประเทศและชาวต่างชาติสามารถถือสองสัญชาติได้ง่ายขึ้น โดยยกเลิกข้อกำหนดด้านความสามารถทางภาษาและระยะเวลาการพำนัก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรอบใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้า ทั้งด้านกฎหมาย ระบบราชการ และการลงทุน เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในการทบทวนกฎหมายครั้งนี้ รัฐบาลยังได้ปรับกฎเกี่ยวกับการตั้งชื่อ เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถขอสัญชาติเวียดนามได้สะดวกขึ้น พร้อมเดินหน้า “มติที่ 57” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเตรียมออก “กลไกพิเศษ” เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและชาวเวียดนามในต่างประเทศให้กลับมาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศ พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน เช่น การให้สัญชาติ สิทธิถือครองที่อยู่อาศัย รายได้แข่งขันได้ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้าราชการ ทหาร และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังคงต้องถือสัญชาติเวียดนามเพียงสัญชาติเดียว ยกเว้นบางกรณีพิเศษ
ชาวเวียดนามในต่างแดน: กุญแจสำคัญของอนาคตเวียดนาม
การแก้ไขกฎหมายสัญชาติครั้งล่าสุดถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เวียดนามมุ่งใช้ดึงดูดชาวเวียดนามในต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเงิน ซึ่งหลายคนทำงานอยู่ในบริษัทชั้นนำ เช่น Google, Meta, IBM และ Microsoft
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเวียดนาม นายโต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เรียกร้องให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยกล่าวว่า “มาตุภูมิพร้อมเปิดอ้อมแขนต้อนรับพลเมืองที่อยู่ไกลบ้านให้กลับมาสร้างชาติเข้มแข็งร่วมกัน”
ในอดีต เวียดนามอนุญาตการถือสองสัญชาติเฉพาะกรณีพิเศษ เช่น นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหรือนักกีฬาระดับชาติ จนถึงเดือนมีนาคม 2568 มีเพียง 60 คนที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความระมัดระวังด้านความมั่นคงที่สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์การถูกรุกราน
ปัจจุบัน ชาวเวียดนามในต่างแดนมีจำนวนราว 6 ล้านคนกระจายอยู่ในกว่า 130 ประเทศ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ถือสองสัญชาติยังเผชิญข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ขั้นตอนเอกสารที่ซับซ้อน สิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เทียบเท่าประชาชนในประเทศ และข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
ทั้งนี้ เวียดนามตั้งเป้าให้ GDP ขยายตัว 8% ในปี 2568 และวางแผนผลักดันการเติบโตระดับสองหลักในระยะยาว โดยตั้งเป้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2588 พร้อมชูเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ