ประธาน FETCO ยังหวังทรัมป์ให้ภาษีไทยต่ำกว่า 36% หลังส่งสัญญาณรอข้อเสนอใหม่
BTimes
อัพเดต 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 1.26 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • อัพเดตข่าวหุ้น ธุรกิจ การเงิน การลงทุน การตลาด การค้า สุขภาพ กับ บัญชา ชุมชัยเวทย์ - BTimes.Bizนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า หลังผ่านมา 1 สัปดาห์ เริ่มเห็นกรอบการค้าใหม่ของสหรัฐ New Trade Landscape ที่อยู่ในใจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยล่าสุดมีการทยอยแจ้งอัตราภาษีนำเข้า (Tariffs) ไปยัง 27 ประเทศคู่ค้า ซึ่งครอบคลุมประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ จีน แม้จะไม่อยู่ในกลุ่ม 27 ประเทศดังกล่าว แต่ก็มีข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับสินค้าจีนอยู่ที่ 30% (20% สำหรับ Fentanyl บวก 10% Minimum) ส่วนสินค้าจีนที่มีราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 54% ขณะที่ ไต้หวัน และอินเดีย ยังคงอยู่ในช่วงเจรจาโค้งสุดท้าย
ส่วนประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 100 ประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ และประเทศที่สหรัฐฯ เกินดุลการค้าด้วย เดิมได้รับอัตราภาษีต่ำสุดที่ 10% แต่ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่ากำลังพิจารณาว่าจะสรุปที่ 15% หรือ 20% นอกจากนี้ หลังจากการตอบโต้ทางการค้า โดยเฉพาะกับยุโรป และการเก็บภาษีเพิ่ม 10% สำหรับประเทศที่เข้าร่วม BRICS ภูมิทัศน์การค้าใหม่ของสหรัฐฯ ก็จะเผยให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครจะได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีกว่าเดิม
ภาษีที่เคาะสำหรับประเทศต่าง ๆ เป็นอัตราแบบง่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตจากอัตราภาษีที่ประกาศออกมา คือ ความเรียบง่ายของตัวเลข โดยส่วนใหญ่จะถูกปัดเศษให้อยู่ในกรอบที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยกล่าวไว้ คือ 10%, 15%, 20%, 25%, 30%, 35%, 40%, 45%, 50% ซึ่งต่างจากแนวทางเดิมเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่คำนวณจากสูตร ทำให้มีอัตรามากมายหลายระดับ เช่น ฟิลิปปินส์ ถูกปัดขึ้น 3% มาที่ 20% ขณะที่มาเลเซีย ญี่ปุ่น และบรูไน ปรับขึ้น 1% เป็น 25% ส่วนคาซัคสถาน และตูนิเซีย ปัดลง 2% และ 3% ตามลำดับ มาเหลือ 25%
โดยยังมี 3 ประเทศ "ไทย-กัมพูชา-อินโดฯ" ยังไม่เข้ากรอบง่าย ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการ ได้แก่ กัมพูชา 36%, ไทย 36% และอินโดนีเซีย 32% จาก 27 ประเทศ มีเพียง 6 ประเทศ ที่อัตราเท่าเดิม ซึ่งในบรรดา 27 ประเทศที่ได้รับแจ้งอัตราภาษี มี 6 ประเทศ ที่ตัวเลขยังคงเท่าเดิม คือ อังกฤษ 10%, เกาหลีใต้ 25%, แอฟริกาใต้ 30%, แอลจีเรีย 30%, อินโดนีเซีย 32% และ ไทย 36% ส่วนอังกฤษ และแอฟริกาใต้ คาดว่าจะสามารถสรุปข้อตกลงได้แล้ว ส่วนแอลจีเรีย ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มากนัก ก็คงจะจบที่ตัวเลขนี้ ที่เหลือคือ เกาหลีใต้ ที่กำลังพยายามเจรจาเพื่อให้ทันวันที่ 1 ส.ค. รวมถึงไทย และอินโดนีเซีย ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเช่นกัน
ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ ไม่ได้ปัดตัวเลข 32% และ 36% ของอินโดนีเซีย และไทย ให้เข้ากรอบง่าย ๆ นั้น อาจตีความได้ว่า สหรัฐฯ "ยังคงรอ" หรือ "กำลังพิจารณา" ข้อเสนอเพิ่มเติมจากทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้ได้ "Good Deal" ที่ดีกว่าเดิม ก่อนที่จะแจ้งข้อสรุปสุดท้ายว่าจะจบลงที่ตัวเลขใดในกรอบที่สหรัฐฯ กำหนด
"สถานการณ์นี้ สร้างความหวังให้กับทีมเจรจาของไทยเป็นอย่างมาก ที่จะสามารถผลักดันให้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงได้ถึงอย่างน้อย 25% ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อภาคการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ"