รู้จัก “คลื่นความร้อน” ฆาตกรเงียบในยุคโลกเดือด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่มาในรูปแบบของอากาศร้อนจัด หรือที่รู้จักกันว่า “คลื่นความร้อน” (Heat Wave) ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คน แต่แท้จริงแล้ว คลื่นความร้อนมีที่มาอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?
“คลื่นความร้อน” คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อุณหภูมิในพื้นที่หนึ่งพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หรือยาวนานต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ จุดสำคัญคือ ไม่สามารถกำหนดค่าที่แน่นอนได้ว่าเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน เพราะสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ให้นิยามของคลื่นความร้อนไว้อย่างชัดเจนว่า เป็น “ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดในพื้นที่นั้นประมาณ 5 องศาเซลเซียสติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน” ซึ่งนิยามนี้ถูกใช้เป็นเกณฑ์สากลในการพิจารณาว่าพื้นที่ใดกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน
คลื่นความร้อนสามารถเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. คลื่นความร้อนแบบสะสมความร้อน
เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง มีเมฆน้อย และลมสงบเป็นเวลานาน ทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยที่ไม่มีการถ่ายเท ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น อินเดีย ปากีสถาน และบางพื้นที่ของออสเตรเลียมักประสบกับคลื่นความร้อนลักษณะนี้เป็นประจำ
2. คลื่นความร้อนแบบพัดพาความร้อน
รูปแบบนี้เกิดจากลมพัดพามวลอากาศร้อนจากพื้นที่ที่ร้อนจัด เช่น ทะเลทราย หรือบริเวณเส้นศูนย์สูตร เข้าสู่พื้นที่ที่เย็นกว่าอย่างฉับพลัน ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่ปลายทางพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คลื่นความร้อนชนิดนี้มักเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรปและเขตอบอุ่น
สำหรับประเทศไทย แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศร้อนชื้น แต่ก็ยัง ไม่เคยมีรายงานการเกิดคลื่นความร้อนอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ทะเล และมีลมมรสุมพัดความชื้นเข้ามาตลอดปี ทำให้ความร้อนไม่สามารถสะสมตัวจนเกิดเป็นคลื่นความร้อนได้ง่ายเหมือนประเทศในเขตแห้งแล้ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โลกอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต แม้กระทั่งในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างไทยเองก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง