รฟท.เปิด3ทาง ทวงเขากระโดง ภท.เมินฮั้วสว.
"ภูมิธรรม" ขึงขังเอาจริงเขากระโดง-อัลไพน์ หวังสร้างความกระจ่าง “เดชอิศม์” ไม่เครียดดูกรมที่ดิน พร้อมสางปัญหา ย้ำของหลวงต้องเป็นของหลวง ยันไม่มีใบสั่งจาก พท. ขณะที่ รฟท.เปิดแนวทวงที่ดิน 995 แปลง รักษาการแทนนายกฯ สั่งทุกหน่วยงานแต่งตั้งโยกย้ายให้เสร็จ ส.ค.นี้ หวังทำงานต่อเนื่อง 1 ต.ค. ด้านอนุทินพร้อมเอาใจช่วย เชื่อ ขรก.เป็นมืออาชีพ และไม่หวั่นคดีฮั้ว สว. เหตุ ภท.ไม่ได้ทำผิด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มอันดามันได้ยื่นหนังสือต่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้กระทรวงมหาดไทยปฏิบัติตามแนวทางของศาลฎีกาและศาลปกครอง กรณีพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการแล้ว หลังจากที่เซ็นคำสั่งให้นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ตรวจสอบเรื่องที่ดินเขากระโดง เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจและคลางแคลงใจเยอะ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะคำสั่งศาลฎีกาและศาลปกครองออกมาแล้ว ก็ไม่ควรจะเป็นอย่างอื่น จึงให้อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงภายใน 7 วัน หากยังไม่เป็นที่น่าพอใจหรือไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ จะตั้งกรรมการสอบ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากมีเหตุผลรองรับและข้อกฎหมายรับได้ ก็ถือว่าปฏิบัติหน้าที่และทําตามกฎหมาย
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ว่า ไม่มีแนวคิดที่จะย้ายใครมากไปกว่านี้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่ย้าย ถ้าพบตรงไหนมีเรื่องไม่ชอบธรรมต้องพิจารณา
นอกจากนี้ ได้เริ่มวางให้หน่วยงานราชการ หรือกรมที่ตนเองดูแลอยู่เริ่มพิจารณาการโยกย้าย หรือให้ผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเสนอชื่อบุคคลที่จะทำงานต่อไป แล้วจะมีการพิจารณา โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือน ส.ค. การแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับจะเสร็จสิ้น และเมื่อมีการเสนอชื่อและมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาในวันที่ 1 ต.ค. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เลย
ด้านนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการแบ่งงานกระทรวงมหาดไทย หลังได้กำกับดูแลกรมที่ดินเพื่อสางปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ และที่ดินอัลไพน์ จ.ปทุมธานี ว่า ไม่หนักใจ เพราะที่ดินของประเทศไทยต้องเป็นของคนไทยเท่านั้น เช่นเดียวกันกับที่ดินของหลวงต้องเป็นของหลวง โดยขอยึดหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นจึงไม่เครียดกับเรื่องนี้เลย หากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินใหม่ จะเป็นอำนาจของนายภูมิธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า รับนโยบายเรื่องดังกล่าวมาอย่างไร นายเดชอิศม์กล่าวว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเรื่องนโยบาย แต่จะทำงานในภาพรวมของประเทศ ซึ่งหากเป็นที่ดินหลวงต้องตกเป็นของหลวง แต่หากเป็นที่ดินเอกชนต้องเร่งออกเอกสารสิทธิให้กรรมสิทธิ์โดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่ามาทำตามใบสั่งของพรรคเพื่อไทย นายเดชอิศม์กล่าวว่า ไม่มีใบสั่ง ตนทำตามใบสั่งของประชาชน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องที่ดินแปลงนี้แปลงเดียว แต่จะต้องไปดูที่แปลงอื่นด้วย ยืนยันว่าบุคคลใดก็ตามที่ไปนำที่หลวงมาเป็นของส่วนตัว จะต้องยึดคืนให้หมด
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และอดีต รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในยุคนายภูมิธรรม มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก จะทำให้ข้าราชการเกิดการเสียขวัญหรือไม่ว่า ต้องไปถามข้าราชการ ตนออกมาแล้ว ได้แต่เอาใจช่วย และเชื่อว่าระดับข้าราชการประจำในกระทรวงมหาดไทยชุดปัจจุบัน อยู่ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีทุกคนมีความสามารถ มีความทุ่มเทและมีความเสียสละ มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ทำงานตอบสนองการเมือง และสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีไม่เคยมองว่าคนนี้เป็นคนของพรรคไหนหรือขั้วไหน ทั้งที่ทราบดีว่าใครเป็นใคร ถือว่ายุคของตนไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย และมีความสมัครสมานสามัคคี นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวถึงคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง ชุดที่ 26 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรับผิดชอบคดีฮั้วเลือก สว. เตรียมสรุปสำนวนคดีในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ก่อนจะส่งให้กับคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่ว่า ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปหมดแล้ว จนถึงวันนี้ไม่มีแกนนำของพรรคภูมิใจไทยคนไหนที่วิตกกังวล เพราะเรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องทางการเมืองชัดเจน และคนที่ไม่ได้ทำจะไปบอกว่าทำได้อย่างไร
วันเดียวกัน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบนพื้นที่เขากระโดง 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 การดำเนินการผ่านกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ปัจจุบัน รฟท.เตรียมส่งหนังสือขอทบทวนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินเพื่อยุติเรื่องนี้ไปยังกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหวังยกเลิกเอกสารสิทธิต่างๆ
ขณะที่แนวทางที่ 2 รฟท.จะใช้โมเดลการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณพังงา-ท่านุ่น เพื่อยื่นอุทธรณ์ฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดย รฟท.ต้องการให้ศาลปกครองเพิกถอนเอกสารสิทธิของที่ดิน 995 แปลงที่บนเขากระโดง ในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ดินที่พังงา-ท่านุ่น ซึ่งที่นั่นศาลเคยมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินของผู้บุกรุกหลายร้อยไร่ให้กลับมาเป็นของ รฟท.เมื่อปีที่ผ่านมามาแล้ว
ส่วนแนวทางที่ 3 นั้น ทาง รฟท.จะขออัยการสูงสุดทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน ดำเนินการฟ้องร้องคดีบนที่ดิน 995 แปลง แทน รฟท. ซึ่งหากอัยการสูงสุดตกลงดำเนินการ จะช่วยลดภาระของ รฟท.ได้อย่างมาก.