‘อดีตผู้พิพากษา’ ยกฎีกาคดีเลือกสว. แนะให้นำหลักเกณฑ์ฯ มาใช้เพิกถอนสิทธิสว.138 คน
'อดีตผู้พิพากษาอาวุโส' ยกคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเลือกสว. เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง10ปี แนะนำหลักเกณฑ์การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มาใช้เพื่อเพิกถอนสิทธิฯ รวมทั้งถอดถอนสว. 138 คน ออกจากตำแหน่ง
16 ก.ค.2568- นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ในคดีเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่พึงนำองค์ประกอบความผิดอาญามาใช้บังคับ มีเนื้่อหาดังนี้
-----
วันนี้ มาลองวิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่น่าสนใจคดีหนึ่ง
1)ข้อเท็จจริง
ก่อนมีการเลือก สว. ระดับจังหวัด ผู้คัดค้านโทรศัพท์ไปหานาง ก. แล้วพูดว่า “ไปลงคะแนนให้ผมระดับจังหวัด เดี๋ยวผมจะให้ค่าสมัครคืน พูดกันตรง ๆ” และพูดว่า “ถ้าไม่มีเดี๋ยวไปลงคะแนนให้ผมระดับจังหวัดนี่ เดี๋ยวผมจะให้ค่าสมัครคืน” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ในการเลือก สว. ระดับจังหวัด หากนาง ก. เลือกผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน โดยจะจ่ายเงินจำนวนเท่ากับค่าสมัครคืนให้แก่นาง ก. ซึ่งเป็นผู้สมัครเป็น สว. และเป็นผู้มีสิทธิเลือก
2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
การกระทำดังกล่าวเป็นการจูงใจให้เลือกผู้คัดค้าน เป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่น ทำให้เจตนารมณ์ของการเลือก สว. ต้องการคนดี และบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ หรือทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในวุฒิสภาเสียไป
การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) อันมีผลทำให้การเลือก สว. มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ผู้คัดค้านจึงต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 226 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 60 วรรคสอง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน เป็นเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3067/2562)
3) ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
(1)ตามกฎหมายการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และบทกำหนดโทษ บัญญัติอยู่คนละหมวดกัน การควบคุมการเลือก บัญญัติอยู่ในหมวด 4 ซึ่งหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวเป็น สว. ให้สมาชิกภาพของ สว. ผู้นั้นสิ้นสุดลง (ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง)
ส่วนบทกำหนดโทษ บัญญัติอยู่ในหมวด 6 ซึ่งมีโทษทางอาญา มีทั้งโทษจำคุกและปรับ
ส่วนที่เหมือนกันทั้งสองกรณี คือ ในคดีการควบคุมการเลือกและคดีอาญา ศาลฎีกาต่างมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้
(2) ในคดีการควบคุมการเลือก สว. กฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์ว่า เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครหรือผู้ใด กระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือก หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกเป็น สว. แล้ว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้สมาชิกภาพของ สว. ผู้นั้นสิ้นสุดลงได้ (มาตรา 62)
(3) ส่วนในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. กฎหมายบัญญัติองค์ประกอบความผิดไว้ เช่น
ความผิดตามมาตรา 71 (1) มีองค์ประกอบความผิดทางอาญาว่า จัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด หรือ
ความผิดตามมาตรา 81 มีองค์ประกอบความผิดทางอาญาว่า ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใด
องค์ประกอบความผิดในคดีอาญาย่อมมีความเข้มข้นมากกว่าหลักเกณฑ์การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น ในการพิจารณาคดีควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงไม่สามารถนำองค์ประกอบความผิดอาญามาใช้บังคับได้ มิฉะนั้น หลักเกณฑ์ในการควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมจะไม่มีที่ใช้โดยลำพัง ทำให้หลักเกณฑ์นี้กลายเป็นหมันไป
อนึ่ง คดีควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นคดีเลือกตั้ง กฎหมายบัญญัติให้เริ่มคดีที่ศาลฎีกา ส่วนคดีอาญา จะต้องเริ่มคดีที่ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ
(4) โดยความเคารพต่อศาลฎีกา ที่ศาลฎีกา (ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3067/2562) วินิจฉัยคดีควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยนำองค์ประกอบความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) (กล่าวคือ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ฯลฯ) มาใช้กับคดีควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น ผู้เขียนไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้ แม้ผู้เขียนจะเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลฎีกาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาก็ตาม
อนึ่ง คดีฮั้วเลือก สว. 138 คน จากจำนวน สว. 200 คน ซึ่งเป็นจำนวนกว่าครึ่งสภา ที่ กกต. กำลังตรวจสอบอยู่นั้น จะต้องนำหลักเกณฑ์การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมดังกล่าวนี้ มาใช้เพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งถอดถอน สว. 138 คน ออกจากตำแหน่ง สว. ด้วย