“One End Ten Ways” พลิกท่ามะนาว สู่ต้นแบบชุมชนยั่งยืน ด้วยพลังความร่วมมือ
ตำบลท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี – โครงการ”เติมเต็มท่ามะนาวเพื่อความยั่งยืน“ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The Ten: One End Ten Ways” โดยนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 67 (วปอ.67) หมู่นกเค้าแมว ร่วมกับภาคีภาครัฐและเอกชน อาทิ ปตท., ททท., กระทรวงเกษตรฯ, กรมส่งเสริมการเรียนรู้, กรมรบพิเศษที่ 3 และรายการ “ชีวิตชีวา” ทางช่อง 33 ผนึกกำลังพัฒนาท่ามะนาวสู่ “ชุมชนต้นแบบ Change for Chance” ด้วยแนวคิด “เปลี่ยน เสริม สร้าง” อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
คณะ วปอ.67 เริ่มต้นจากการรับฟังเสียงของชุมชน วิเคราะห์ศักยภาพและปัญหา นำไปสู่การจัดกิจกรรม Upskill ทั้งด้านเกษตร พลังงาน และท่องเที่ยว พร้อมออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ที่ไม่ใช่แค่การเยี่ยมชม แต่ลงมือทำจริง เช่น การทำ BIO Drink การเรียนรู้เรื่องคาร์บอนเครดิต การสานพัดเดคูพาจ และฟาร์มสเตย์ ส่งผลให้ชุมชนมี “จุดเรียนรู้มีชีวิต” ถึง 17 แห่ง พร้อมเมนูท้องถิ่นพัฒนารูปแบบ เช่น “ข้าวผัดปลาแดดเดียว” และ “น้ำอ้อยเฉาก๊วย” สร้างมูลค่าเพิ่มและภาพจำด้านการท่องเที่ยว
กิจกรรมร่วมกับรายการโทรทัศน์ “ชีวิตชีวา” ช่อง 33 เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน ได้เชิญแฟนรายการร่วมลงพื้นที่ เกิดรายได้จากค่าเข้าชมและกิจกรรม ผู้เข้าร่วมประทับใจในรสชาติอาหารท้องถิ่น การออกแบบกิจกรรมที่สนุกและได้เรียนรู้จริง พร้อมสะท้อนศักยภาพของท่ามะนาวในฐานะ “ปลายทางแห่งการเรียนรู้” ดังที่นางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการ ททท. กล่าวไว้
หนึ่งในนวัตกรรมเด่นคือ ระบบแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ สนับสนุนโดย ปตท. ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน 480 ครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดือนละกว่าหมื่นบาท พร้อมท่อส่งกว่า 23 กม. โดยมีช่างในชุมชนดูแล และได้รับการสนับสนุนจากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งอบก.เป็นผู้คำนวณ
ชุมชนยังได้รับทุนจากเยอรมนีจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ก๊าซเรือนกระจก และพัฒนา แปลงผัก GMP ปลอดสาร ด้วยระบบโซล่าร์เซลส์ ร่วมลงทุนระหว่างเกษตรกรกับ ปตท. ซึ่งขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูง และกำลังขยายการผลิต
ปัจจุบัน ท่ามะนาวเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่มีผู้เยี่ยมชมเฉลี่ยปีละกว่า 2,700 คน เกิดรายได้จากการบริการอาหาร จุดเรียนรู้ และสินค้าชุมชนหลากหลาย เช่น กล้วยตาก พุทรากวน เมล่อน ผงกล้วย และของที่ระลึกฝีมือชาวบ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนพลังของการ “พัฒนาแบบมีส่วนร่วม”
พลตรีชาคริต อุจะรัตน รองแม่ทัพภาค 4 กล่าวถึงโครงการว่า “นี่ไม่ใช่แค่กิจกรรมหนึ่ง แต่คือยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สามารถขยายผลสู่ชุมชนอื่นทั่วประเทศได้”
โครงการ The Ten – One End Ten Ways จึงมิใช่เพียงการพัฒนาในเชิงกายภาพ แต่คือการเชื่อมโยง “ทุนทางสังคม” เข้ากับ “ทุนทางนโยบาย” อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลัก PDCA: Plan – Do – Check – Act ที่เน้นฟังเสียงชุมชน และพัฒนาร่วมกันอย่างแท้จริง
จากชายป่า…สู่ชุมชนเกษตรปลอดภัย ท่ามะนาวพร้อมก้าวไกล ด้วยพลังความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน The Ten – One End Ten Ways: เปลี่ยน เติม เสริม สร้าง เพื่อโอกาสที่ดีกว่า… ไม่ใช่แค่ที่ท่ามะนาว แต่เพื่อชุมชนไทยทุกแห่ง