"พายุวิภา" อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น ทั่วไทยรับมือ ฝนถล่ม!!
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุวิภา และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 14 (200/2568) เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (23 ก.ค. 68) พายุโซนร้อน "วิภา" ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และเมื่อเวลา 04.00 น. ปกคลุมบริเวณแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว หรือที่ละติจูด 19.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 103.0 องศาตะวันออก โดยอยู่ห่างจากจังหวัดน่านไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 180 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงต่อไป โดยจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนในระยะต่อไป สำรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยกำลังแรง
จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 24 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี และกาญจนบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือหรืออพยพ
หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตและติดตามประกาศจากกรมอตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์
กรมอุดุนิยมวิทยาhttp://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ภาคกลางมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรีอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราดอุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมแรง ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงาอุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตรตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กรุงเทพและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.