ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนผู้แนะนำการลงทุน ‘อุษา พูลเกิด’ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ก.ล.ต.สั่งเพิกถอนผู้แนะนำการลงทุนของ "อุษา พูลเกิด" เป็นเวลา 10 ปี กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน ขณะกระทำผิดสังกัดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกรุงเทพ และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างปี 2564- 2566 นางสาวอุษา พูลเกิด มีพฤติกรรมเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้ารายหนึ่ง โดย (1) ใช้ใบถอนเงินและสำเนาบัตรประชาชนที่ให้ลูกค้าลงนามไว้เพื่อซื้อหน่วยลงทุน และ (2) ใช้ใบถอนเงินและเอกสารประกอบการถอนเงินของลูกค้ารายอื่นที่ลงนามไว้ มาใช้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า จำนวน 18 รายการ จากนั้นนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือนำไปชำระค่าเบี้ยประกันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องของตนเอง
โดยนางสาวอุษา ได้บันทึกรายการในสมุดคู่ฝาก ที่ลูกค้ามอบไว้ ซึ่งมีรายการที่แสดงว่าเป็นการถอนเงินเพื่อนำไปซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้า แต่ไม่ได้ซื้อหน่วยลงทุนให้ลูกค้าจริง ทำให้ลูกค้ารายนี้ได้รับความเสียหาย เป็นเงินรวม 15.1 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้ตกลงกับลูกค้าและได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกค้ารายดังกล่าวแล้ว
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางสาวอุษา เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป** และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของนางสาวอุษาเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568
ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาข้างต้น ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายงานการถือหน่วยลงทุนและบัญชีเงินฝากอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรฝากหรือลงนามเอกสารสำคัญประกอบการทำธุรกรรม เช่น ใบถอนเงิน บัตรประชาชน สมุดคู่ฝาก เป็นต้น ให้ผู้แนะนำการลงทุนทำรายการแทนให้ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการทุจริต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ก.ล.ต. แจ้ง JKN แก้ไขงบการเงินงวดประจำปี 2566 ภายใน 11 ก.ค. นี้
- ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งผู้กระทำความผิด 2 รายฐานปั่นหุ้น KDH
- ก.ล.ต. สนับสนุนแนวทาง IOSCO งัดแพลตฟอร์มออนไลน์สู้ภัยหลอกลงทุน
ติดตามเราได้ที่