สธ. ย้ำ 8 ข้อสั่งการรับมือ ‘พายุวิภา’ เฝ้าระวัง รพ.เสี่ยงน้ำท่วม ดูแลผู้ป่วย-กลุ่มเปราะบาง
ปลัด สธ. ย้ำ 8 ข้อสั่งการรับมือผลกระทบ "พายุวิภา" โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อาจเสี่ยงน้ำท่วม ทำแผนจัดบริการนอกสถานพยาบาล แผนอพยพส่งต่อผู้ป่วย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ช่วงวันที่ 22324 กรกฎาคม 2568 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจาก พายุวิภา และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 49 จังหวัด คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทั้งนี้ ได้มีข้อสั่งการการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขตสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม กองบริการการสาธารณสุข และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ดังนี้
1. ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ดูแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ และดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ รวมถึงตรวจสอบสถานพยาบาลที่อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง หรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับให้ทันเหตุการณ์และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
2. สถานพยาบาลที่อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบ ให้เตรียมแผนจัดบริการนอกสถานพยาบาล ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ แผนอพยพเคลื่อนย้ายหรือส่งต่อผู้ป่วยหากพื้นที่น้ำท่วมสูง และกรณีไม่สามารถใช้เส้นทางปกติได้ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยานไปยังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อความรวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิดให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
3. ให้หน่วยงานที่มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานการเปิดศูนย์ฯ ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรายงานเมื่อมีการปิดศูนย์ฯ ทันที
4.เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อาทิ กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โรคที่มียุงเป็นพาหะ โรคติดเชื้อต่าง ๆ การเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต รวมถึงดูแลสุขอนามัยของประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว (Shelter) โดยให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของประชาชน และความปลอดภัยของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ
5. ให้จัดสถานที่พักสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ โดยการจัดหาที่พักสำรองในพื้นที่ที่ปลอดภัย
6. เตรียมความพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เวชภัณฑ์ และยา ที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที
7. ประเมินความเสียหายสถานบริการที่ได้รับผลกระทบ สำรวจความแข็งแรงของอาคาร และสิ่งก่อสร้างที่เป็นอันตราย พร้อมซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย ครอบคลุมการฟื้นฟูสภาพทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด
8. สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมแก่ประชาชนทุกช่องทาง รวมถึงเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และตอบโต้ข่าวสารที่เป็นเท็จ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 'ประเสริฐ' ยันพร้อมรับมือ พายุวิภา กระทบไทย 23 - 24 ก.ค.
- ด่วนที่สุด! หางพายุ 'วิภา' จ่อพัดถล่มภาคเหนือ 9 จังหวัดเตรียมรับมือ
- สธ.จับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘XFG’ แพร่กระจายเร็ว ไทยพบแล้ว 23 ราย
ติดตามเราได้ที่