"แม่วากโมเดล" ต้นแบบการพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งแม่แจ่ม
วิกฤตข้าวโพดเลี้ยงสัตว : จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง บ้านแม่วาก ซึ่งมีประชากร 321 คน ใน 101 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อย่างไรก็ตาม การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวนี้ได้สร้างปัญหาเรื้อรังให้กับชุมชนมาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง จากการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดวัชพืช ราคาขายที่ไม่แน่นอน การขยายพื้นที่ทำกินรุกล้ำเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ และป่า
นอกจากนี้ ชุมชนยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงฤดูแล้ง ไม่เพียงพอทั้งสำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ขาดการรวมกลุ่ม และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
"แม่วากโมเดล" ก้าวแรกจากน้ำ สู่ความหลากหลาย โครงการริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานบูรณาการต่าง ๆ ซึ่งพบปัญหาเร่งด่วนคือการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรบ้านแม่วาก ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีการสำรวจพื้นที่ วางระบบส่งน้ำระยะทางกว่า 8,548 เมตร และก่อสร้างบ่อพวงพักน้ำ 7 บ่อ เพื่อกระจายน้ำให้เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 669 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกร 49 แปลง ทำให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำใช้ที่เพียงพอสำหรับฤดูแล้ง และมีทางเลือกในการทำเกษตรที่หลากหลายมากขึ้น
พลิกโฉมเกษตรกรรม: จากเชิงเดี่ยวสู่พืชผสมผสานยั่งยืน หัวใจสำคัญของแม่วากโมเดลคือการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเชิงเดี่ยวไปสู่การปลูกพืชผสมผสาน และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่เกษตรกรรม ป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทางเลือกที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักในโรงเรือน, ไม้ผล (มะม่วง, อะโวคาโด, มะขามเปรี้ยวยักษ์, ไผ่ซางหม่น, เงาะ) และการเลี้ยงสัตว์
พร้อมกับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน ปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชื้น รวมถึงการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การใช้น้ำหมักชีวภาพ (พด.2 และ พด.7) และปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน และลดการใช้สารเคมี ซึ่งจากการดำเนินการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พบว่าสามารถลดการสูญเสียตะกอนดินและธาตุอาหารพืชได้ถึง 6,165 ตัน/ปี ในพื้นที่ 250 ไร่
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง : ชุมชนต้นแบบแห่งความยั่งยืน “แม่วากโมเดล” เป็นการดำเนินงานที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ และมูลนิธิฮักเมืองแจ่ม ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชผสมผสาน ใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด, เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น แม้จะใช้พื้นที่น้อยลง,เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรป่าไม้,ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า,ลดปัญหาหมอกควันและการฟื้นฟูป่า,ยกระดับกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาบ้านแม่วากให้เป็นชุมชนต้นแบบการเรียนรู้ครอบคลุม 3 มิติ
การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้บ้านแม่วากไม่เพียงแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเองได้ แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ถึงพลังของการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน