ญี่ปุ่นตั้ง 'หน่วยรับมือปัญหาชาวต่างชาติ' เอาใจคนท้องถิ่นก่อนเลือกตั้ง
ทำไมญี่ปุ่นถึงจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อจัดการกับชาวต่างชาติ? นายกรัฐมนตรีอิชิบะ ชิเงรุ ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ชื่อว่า "สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองกับชาวต่างชาติ" เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยอ้างถึง "อาชญากรรมหรือพฤติกรรมก่อกวนที่กระทำโดยชาวต่างชาติบางคน" รวมถึง "การใช้ระบบของรัฐบาลอย่างไม่เหมาะสม"
นายกรัฐมนตรีอิชิบะกล่าวว่า สำนักงานแห่งนี้จะเป็น "ศูนย์บัญชาการ" ในการประสานงานนโยบายสำหรับทั้งพลเมืองญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยจะครอบคลุมถึงเรื่องการเข้าเมือง การซื้อที่ดินโดยชาวต่างชาติ และการประกันสังคมที่ยังไม่ชำระ เขายังให้คำมั่นว่าจะ "ดำเนินการอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ" ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงเมื่อเดือนที่แล้ว ถึงแผนการกำหนดบทลงโทษต่อนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่ค้างจ่ายหนี้ค่ารักษาพยาบาล จะไม่สามารถทำวีซ่าเข้าญี่ปุ่นได้
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกไม่พอใจ?
แม้ว่าจำนวนประชากรต่างชาติในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นจาก 2.23 ล้านคนเป็น 3.77 ล้านคนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงคิดเป็นเพียง 3% ของประชากรทั้งหมดมากกว่า 120 ล้านคน แต่อัตราชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นเป็นประวัติการณ์ถึง 21.5 ล้านคน ตามข้อมูลขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนท้องถิ่นจำนวนมาก เพราะชีวิตของพวกเขาถูกรบกวนโดยนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในละแวกบ้านเพื่อเที่ยวชม ช้อปปิ้ง หรือถ่ายรูปทิวทัศน์
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวโทษนักท่องเที่ยวว่าเป็นต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อ และมีส่วนทำให้เกิดการขาดแคลนสิ่งของบางอย่าง รวมถึงข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่คนญี่ปุ่นหวงแหนที่สุด บางคนยังตั้งข้อสังเกตว่า ชาวต่างชาติเลี่ยงการจ่ายประกันสุขภาพของรัฐ และนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ผู้เกษียณอายุคนหนึ่งในโตเกียวกล่าวว่า เขาเชื่อว่าแรงงานต่างชาติกำลังแย่งงานของคนญี่ปุ่น และแสดงความเห็นว่า "วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมกัน"
ศาสตราจารย์ชุนสุเกะ ทานาเบะ อาจารย์สังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว กล่าวว่า ความเชื่อเชิงลบจำนวนมากเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน เช่น แนวคิดเรื่องอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น มาจากข้อมูลที่ผิดและการกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดจากการหาเสียง
เขายังกล่าวอีกว่า "อาชญากรรมในญี่ปุ่นลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น" และเสริมว่า "แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างอัตราการเกิดอาชญากรรมของคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเลย" โดยในปี 2023 ชาวต่างชาติ 9,726 คนถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรม คิดเป็น 5.3% ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด
วาระเลือกตั้ง ต้องขึงขังเอาใจคนท้องถิ่น?
นักวิเคราะห์ทางการเมืองกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอิชิบะถูกบีบให้เดินหน้านโยบายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นวันนี้ (20 ก.ค. 68) ได้มุ่งเน้นไปที่การทำให้คนท้องถิ่นซึ่งเป็นคะแนนเสียงหลัก เกิดความพึงพอใจว่ารัฐบาลได้จัดการกับพลเมืองต่างชาติที่ไร้ความรับผิดชอบและนักท่องเที่ยวที่ก่อความวุ่นวาย ท่ามกลางความโกรธเคืองของชาวญี่ปุ่น
พรรคซันเซโตะ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาเล็กๆ ที่รณรงค์ต่อต้านผู้อพยพและส่งเสริมนโยบาย "ญี่ปุ่นต้องมาก่อน" ได้รับความสนใจและมีการรายงานข่าวมากขึ้น พรรคนี้ยังห่างไกลจากการแข่งขันเพื่อเสียงข้างมาก แต่คาดการณ์ว่าจะได้รับ 10 ถึง 15 ที่นั่ง ซึ่งอาจทำให้เสียงข้างมากของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของอิชิบะลดลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรู้ดีว่า ในแง่ของสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงและสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น ประเทศแห่งนี้จำต้องดึงดูดแรงงานต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ผ่อนปรนข้อกำหนดสำหรับวีซ่าและพยายามปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่มาอย่างต่อเนื่อง อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ 1.15 ในปี 2024 ซึ่งต่ำกว่า 2.1 ที่จำเป็นต่อการรักษาประชากรให้คงที่หากไม่มีการย้ายถิ่นฐาน นั่นหมายความว่า ประชากรวัยทำงานจะยังคงลดลงในทศวรรษข้างหน้า ซึ่งจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แย่ลงไปอีก
ความมั่นคงของรัฐบาล ท่ามกลางปัญหาล้านแปด
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (House of Councillors) ของญี่ปุ่น ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2025 ผลสำรวจความคิดเห็นจากสื่อหลายสำนัก เช่น หนังสือพิมพ์อาซาฮี และสำนักข่าวจิจิ บ่งชี้ว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ และพรรคโคเมโตะ (Komeito) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาจต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษา 50 ที่นั่งที่จำเป็นต่อการครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา
หากพรรคร่วมรัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูง จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีอิชิบะ ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของญี่ปุ่น ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ลดคะแนนนิยมของรัฐบาลอิชิบะ
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดทิศทางการเมืองของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ อาจนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพเดิม การปรับเปลี่ยนผู้นำ หรือการสั่นคลอนที่อาจเปิดทางให้ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนักวิเคราะห์มองว่า หากพรรครัฐบาลพ่ายแพ้ อาจเพิ่มโอกาสที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญๆ เช่น การลดภาษี การแจกเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เป็นต้น