50 ปี อัลบั้มร็อกคลาสสิก A NIGHT AT THE OPERA
ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
ค.ศ. 1975 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก มีศิลปินชั้นนำหลายรายออกอัลบั้มที่ถูกจัดว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของตน และหลายรายออกอัลบั้มแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงและความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่ตามมาของตน
แต่ไม่มีอัลบั้มใดที่มีสีสัน และได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอมาจนถึงปัจจุบัน มากเท่า A Night at the Opera อัลบั้มชุดที่ 4 ของ ควีน วงร็อกอังกฤษที่ประกอบด้วยเด็กหนุ่ม 4 คน (ในขณะนั้น) : เฟร็ดดี เมอร์คิวรี - ร้องนำ/เปียโน/คีย์บอร์ด, ไบรอัน เมย์ – กีตาร์, จอห์น ดีคอน – เบส และ โรเจอร์ เทย์เลอร์ – กลอง
ควีน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากอัลบั้มชุดที่ 3 - Sheer Heart Attack (1974) มีเพลงฮิต "Killer Queen" ติดอันดับ 2 บนตาราง ยูเค ซิงเกิ้ล, ติดอยู่ในท็อป 20 บนตาราง บิลล์บอร์ด ฮ็อท 100 ในอเมริกา และตัวอัลบั้มก็ได้รับความนิยมพอสมควร ติดอันดับ 12 บนตารางอันดับอัลบั้ม บิลล์บอร์ด 200
แต่ความสำเร็จขนาดย่อมๆนี้ ไม่ได้ทำให้ฐานะทางการเงินของ ควีน ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะพวกเขามีปัญหาจากการที่ทำสัญญาที่เสียเปรียบไว้กับ นอร์แมน เชฟฟีลด์ แห่ง ไทรเดนท์ สตูดิโอ จำเป็นต้องหาผู้จัดการ และในที่สุด ควีน ก็ได้ จอห์น รี้ด มาเป็นผู้จัดการ และ รี้ด นี่เองคือคนที่ให้คำแนะนำกับวงว่า “ไปเข้าสตูดิโอซะ แล้วก็ทำอัลบั้มดีที่สุดเท่าที่พวกนายจะทำได้ออกมา”
A Night at the Opera จึงกลายเป็นผลงานที่จะตัดสินชะตากรรมของวง ไบรอัน เมย์ เคยให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า "เรามีเพลงฮิท แต่เราไม่ได้เงินอะไรกลับมา ถ้า A Night at the Opera ไม่ประสบความสำเร็จขนาดใหญ่ ผมคิดว่าเราก็คงจะจมหายลงไปตรงไหนสักแห่งใต้มหาสมุทร ฉะนั้น เรากำลังทำอัลบั้มโดยไม่รู้ว่ามันจะอยู่หรือตาย”
A Night at the Opera โปรดิวซ์โดย รอย โธมัส เบเคอร์ ร่วมกับ ควีน กระบวนการผลิตอัลบั้มเริ่มจากการแต่งเพลง, เรียบเรียงดนตรี และซ้อมวงกัน ก่อนจะใช้เวลา 4 เดือน และใช้ห้องบันทึกเสียง 7 แห่ง สมาชิกทุกคนมีส่วนในการแต่งเพลง เมอร์คิวรี่ แต่ง 5 เพลง, เมย์ แต่ง 4 เพลง, เทย์เลอร์ และ ดีคอน แต่งกันคนละเพลง ยกเว้นเพลง "God Save the Queen" ที่บันทึกเสียงเพื่อเป็นซิงเกิ้ลในปีก่อนหน้านี้ และเป็นเพลงเดียวที่ค้างคามาจากการบันทึกเสียงที่ ไทรเดนท์ สตูดิโอ
คงเป็นความรู้สึกอย่างที่ ไบรอัน เมย์ บอก “ไม่รู้ว่าจะอยู่หรือตาย” จึงทำให้สมาชิกของ ควีน ใส่กันสุดๆทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์และฝีมือดนตรี ส่งผลให้ A Night at the Opera เป็นอัลบั้มที่มีความหลากหลายทางดนตรี ตั้งแต่ฮาร์ด-ร็อก, โปรเกรสซีฟ-ร็อก, ป๊อป, โฟล์ค ไปจนถึงโอเปร่า
และความทะเยอทะยานนั้น ก็ทำให้อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ลงทุนแพงที่สุดในยุคสมัยนั้น พวกเขาใช้เงินในกระบวนการผลิตไปราว 40,000 ปอนด์ (เทียบกับสมัยนี้ก็ประมาณ 424,000 ปอนด์)
แนวเนื้อหาในบทเพลงมีตั้งแต่เรื่องเฟื่องฝันแบบนิยายวิทยาศาสตร์, ความสัมพันธ์รักใคร่, อกหักรักสลาย จนถึงอารมณ์ขันแบบประชดประชัน ทั้งหมดถูกแต่งออกมาด้วยความฉลาดแหลมคม แนวเนื้อหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากต้องการสร้างผลงานทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ควีน ก็ต้องการจับใจผู้ฟังในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นกว่าการเป็นแค่วงฮาร์ด-ร็อกหรือเฮฟวี่เมทัล เพื่อประสบความสำเร็จทางด้านพาณิชย์ด้วย
และแน่นอน เพลง “Bohemian Rhapsody” ซึ่งโดดเด่นที่สุดในอัลบั้ม ก็กลายเป็นเพลงร็อกคลาสสิกที่ถูกนำมาเปิดตามวิทยุ, สตรีมมิ่งในสื่อออนไลน์, วงดนตรีต่างๆนำมาเล่นตามคลับบาร์ และใช้ในการประกวดร้องเพลง - อยู่เสมอในปัจจุบันนี้
อัลบั้ม A Night at the Opera ออกวางขายช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1975 จัดจำหน่ายในอังกฤษโดย อีเอ็มไอ เรคอร์ดส์ และในอเมริกาโดย อีเล็คตร้า เรคอร์ดส์ ส่วนชื่ออัลบั้มได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันโดยคณะนักแสดงตลกครอบครัว เดอะ มาร์กซ์ บราเธอร์ส ออกฉายในปี 1935 ซึ่งวงนั่งดูระหว่างพักจากการบันทึกเสียง
อัลบั้มต่อมาในปี 1976 ก็ใช้ชื่อ A Day at the Races ภาพยนตร์ในปี 1937 ของ มาร์กซ์ บราเธอร์ส อีกเช่นกัน ปกอัลบั้ม A Night at the Opera เป็นพื้นขาว มีโลโก้ของวงที่ออกแบบโดย เมอร์คิวรี่ วางไว้ตรงกลาง อัลบั้มต่อมาก็คล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนพื้นขาวเป็นพื้นสีดำ
หลังจาก A Night at the Opera ออกวาง ไม่เพียงได้รับความนิยมตามเจตนามุ่งหมาย ซึ่งทำให้ ควีน ถูกยกระดับจากวงร็อกธรรมดาๆขึ้นสู่สถานะซูเปอร์สตาร์ระดับโลก อัลบั้มยังได้รับความวิจารณ์ชื่นชมอย่างท่วมท้น ทั้งความพิถีพิถันในด้านการผลิต, ความช่างคิดที่ซับซ้อนแต่ประณีตในการเรียบเรียง, แนวคิดในบทเพลง และท่วงทำนองที่ไพเราะ ที่สำคัญ กระบวนการผลิตและเท็คนิคต่างๆไม่ได้บดบังอารมณ์เพลง แต่กลับช่วยขับเน้นให้เพลงสร้างความประทับใจต่อผู้ฟัง
A Night at the Opera ไม่ใช่แค่เป็นอัลบั้มดีที่สุดของ ควีน ตลอดอาชีพของพวกเขา แต่เป็นหนึ่งในอัลบั้มดีที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีร็อก
ในการจัดงานประกาศรางวัล แกรมมี่ เมื่อปี 2018 บันทึกให้ A Night at the Opera ถูกบันทึกเข้าสู่หอเกียรติยศของอัลบั้มยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ยังติดอยู่ในรายชื่อหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาลจากการจัดอันดับของสื่อดนตรีที่ทรงอิทธิพลเกือบทุกแห่ง
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ เคยบอกว่า เขาสนุกกับการทำงานในอัลบั้ม A Night at the Opera แต่ก็เป็นการทำงานที่รีดเค้นพลังมากที่สุดในอาชีพศิลปินของเขา อ่อนล้าทั้งทางกายและจิตใจ “บางครั้งผมถามตัวเองว่าทำไมถึงทำ หลังจาก Sheer Heart Attack เราเหมือนจะเสียสติกัน พูดกันว่าไม่มีวันทำอย่างนี้อีก และแล้ว ดูสิ่งที่เกิดขึ้นสิ”