ฝนโหดทำเท็กซัสจมบาดาล ถล่มหนักสุดในรอบศตวรรษ
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ สหรัฐฯ เผชิญน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ในรัฐเท็กซัส ฝนตกหนักต่อเนื่อง-พายุโซนร้อน-โลกร้อนซ้ำเติม
ในช่วงวันที่ 4–5 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกาเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตะวันตกและตอนกลางของรัฐ เกิดฝนตกต่อเนื่องยาวนานถึง 6 วัน มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงถึง 40–45 นิ้ว หรือกว่า 1,000 มิลลิเมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเชิงเขา เกิดน้ำท่วมฉับพลันรุนแรง มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 82 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก
สาเหตุหลักของน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากอิทธิพลที่ยังหลงเหลืออยู่ของพายุโซนร้อน "แบร์รี่" ซึ่งเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเม็กซิโกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พายุได้พัดเอาความชื้นปริมาณมหาศาลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และเมื่อรวมกับอากาศร้อนบนพื้นดินของรัฐเท็กซัส รวมถึงความชื้นจากอ่าวเม็กซิโก กลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการก่อตัวของเมฆฝนขนาดใหญ่ เมื่อกระแสลมเย็นจากอ่าวเม็กซิโกเคลื่อนเข้าปะทะ จึงกลายเป็นฝนฟ้าคะนองที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในคืนวันที่ 4 ก.ค. บางพื้นที่มีปริมาณฝนเฉพาะคืนเดียวสูงถึง 250–400 มิลลิเมตร
สถานการณ์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยเฉพาะที่ "แคมป์มิสติก" ค่ายพักสำหรับเด็กผู้หญิงริมแม่น้ำกัวดาลูเป ซึ่งถูกฝนถล่มและน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบไฟฟ้า น้ำประปา และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง เด็กจำนวนมากต้องอพยพฉุกเฉิน และยังมีรายงานเด็กสูญหาย 23 ราย
จากการติดตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯ พบว่าความชื้นในบรรยากาศชั้นบนบริเวณเท็กซัสตะวันตกอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยบอลลูนตรวจอากาศตรวจพบว่าความชื้นเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเชื้อเพลิงให้ฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง ส่วนลมที่พัดผ่านหน้าผาหินจากอ่าวเม็กซิโกเข้ามา ทำให้ระบบอากาศปั่นป่วนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นว่า "ภาวะโลกร้อน" มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์ฝนตกหนักในครั้งนี้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั้งบนพื้นดินและในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้บรรยากาศสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้น โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ในปี 2568 พบว่าอุณหภูมิผิวน้ำในบางจุดของอ่าวเม็กซิโกสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 8 องศาฟาเรนไฮต์
ข้อมูลย้อนหลังตลอด 140 ปี ยังพบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกินครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกัน การปรับลดงบประมาณของสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ (NOAA) โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ก็ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที
ภัยพิบัติครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ "ฝนตกหนัก" แต่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งกำลังท้าทายศักยภาพในการรับมือของชุมชนทั่วโลกอย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “เชียงราย” ฝนตกหนัก สทนช. เตือน 8 อำเภอเสี่ยงน้ำหลาก
- “เท็กซัส” น้ำท่วมครั้งใหญ่ คร่าชีวิตกว่า 80 ราย!
- 7-12 ก.ค. ฝนตกต่อเนื่อง เหนือ อีสาน และด้านรับมรสุม ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
- 7-12 ก.ค. ฝนชุกทั่วไทย เตือนเหนือ อีสาน ตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
- พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยวันที่ 7 ก.ค.68