SOCIETY: งานวิจัยเผย กบเพศเมียมักแกล้งตาย เพื่อเอาตัวรอดในฤดูผสมพันธุ์ หลังถูกเพศผู้รุมจนอาจเหนื่อยตายได้จริง!
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science เผยว่า กบยุโรปเพศเมียจะแกล้งตายเพื่อหลบหนีจากตัวผู้ที่จู่โจมอย่างดุเดือดในฤดูผสมพันธุ์ ด้วยการปล่อยตัวให้แข็งนิ่ง ลอยหงาย และกลั้นหายใจ กลยุทธ์การเอาตัวรอดขั้นสุดนี้เรียกว่า ‘Tonic immobility’ สะท้อนถึงแรงกดดันมหาศาลที่เพศเมียต้องเผชิญในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ปกติแล้วในฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้หลายสิบตัวมักจะรวมตัวกันรุมทึ้งที่ตัวเมียตัวเดียว จนกองพะเนิน เรียกว่า ‘Mating ball’ ผลคือกบเพศเมียบางตัวจมน้ำจากการถูกเกาะแน่นหรือเหนื่อยล้าจนตายได้จริงๆ
กบเพศเมียเหล่านี้จึงต้องหาวิธีเอาตัวรอดมากมาย เพื่อหลบหลีกการผสมพันธุ์กับเหล่ากบหนุ่มจอมหื่น เช่น หมุนตัวดิ้นแรงๆ เพื่อสลัดกบเพศผู้ทิ้ง บ้างก็ส่งเสียงร้องแหลมคล้ายเสียงกบตัวผู้เพื่อสร้างความสับสน แต่ที่พีคสุดคือการแกล้งตายนี่แหละ!
งานวิจัยยังพบอีกว่า กบเพศเมียตัวเล็กๆ มักใช้ทั้งสามวิธีร่วมกัน เหมือนมีชุดเอาตัวรอดครบเซ็ต ซึ่งน่าจะสะท้อนว่ากบตัวเล็กหรืออายุน้อยต้องหาทางป้องกันตัวมากกว่าพวกตัวใหญ่ และที่สำคัญคือมันได้ผลจริงเสียด้วย
แม้พฤติกรรมแกล้งตาย หรือที่เรียกว่า Tonic immobility จะเคยถูกบันทึกไว้ในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมาก่อน แต่ก็แทบไม่เคยพบในสถานการณ์ผสมพันธุ์แบบนี้มาก่อน
นักวิทยาศาสตร์เลยเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้อาจฝังรากลึกอยู่ในวิวัฒนาการของกบ เพราะพวกเขาไปเจอเอกสารเก่าแก่จากศตวรรษที่ 18 ที่นักธรรมชาติวิทยาคนหนึ่งเคยบรรยายถึงพฤติกรรมคล้ายกันไว้อย่างละเอียด ซึ่งแปลว่าเราอาจรู้เรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่กลับลืมไปนานกว่า 250 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้การทดลองล่าสุดจะทดลองในห้องแล็บที่ควบคุมสภาพแวดล้อมไว้ ไม่ได้จำลองความโกลาหลในธรรมชาติได้ทั้งหมด แต่มันก็เปิดโอกาสให้เราได้คิดทบทวนพลวัตกระบวนการสืบพันธุ์ของกบ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนมักเชื่อว่าในกบสายพันธุ์ที่ตัวผู้มีการแข่งขันกันสูง ตัวเมียจะไม่มีสิทธิ์เลือกหรือปฏิเสธใดๆ เลย แต่การค้นพบครั้งนี้กำลังท้าทายความเชื่อเก่าๆ เหล่านั้นว่า ถ้าฉันไม่อยากทำ ก็อย่าหวังว่าเธอจะมีสิทธิ์!
อ้างอิง:
- Female frogs fake death to flee from males https://shorturl.asia/Dr0tG