MOODY: ทำไงดีถ้ารู้สึกไม่มั่นคงในรักเพราะคิดมาก? ลองปรับหัวใจด้วย 4 วิธี เพื่อเปลี่ยนความอ่อนไหวให้กลับมามั่นคง
หลายคนอาจเคยกังวลว่าคนรักของเราจะเปลี่ยนไป หรือตั้งคำถามว่าคนรักอาจรักเราน้อยลงหรือเปล่า?
โดยที่มันทำให้คุณรู้สึกคิดมากและรู้สึกว่าความสัมพันธ์เริ่มไม่มั่นคง จนบางครั้งทำให้คุณต้องถามคนรักอยู่เสมอ หรือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อยืนยันว่าความสัมพันธ์ยังมั่นคงอยู่ เช่นการถามว่า “เธอยังรักเค้ามั้ย” หรือการเข้าไปตรวจเช็กโทรศัพท์ของอีกฝ่าย
ทั้งนี้หากคุณกำลังประสบกับภาวะคิดมากจนรู้สึกว่าความสัมพันธ์ไม่มั่นคงอยู่ล่ะก็ MOODY อยากจะแนะนำ 4 วิธีให้คุณได้ลองปรับเพื่อเปลี่ยนความอ่อนไหวของคุณมาเป็นความรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ เพื่อให้คุณและคนรักได้เข้าใจกันมากขึ้น ด้วยวิธีดังนี้
1 – การฝึกจัดการอารมณ์ของตัวเอง (Emotional Self-Reguation)
ในบางครั้งการคิดมากของคุณก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการควบคุมอารมณ์ที่ไม่ดีพอ เช่นการคิดจากเรื่องเล็กน้อยไปเป็นเรื่องใหญ่โตเกินจริงจนเผลอระเบิดอารมณ์ออกมา
ดังนั้น ก่อนที่คุณจะรีบคิดมากไปเอง ก็ให้คุณลองฝึกถามความรู้สึกตัวเองก่อนว่าแท้จริงแล้วตัวคุณกำลังกังวลกับอะไร และเรื่องนี้มีหลักฐานจริงหรือเป็นแค่ความคิดที่คุณสร้างขึ้นมาเอง
เพราะการได้สำรวจความรู้สึกของตัวเอง จะทำให้ตัวคุณได้ควบคุมอารมณ์ลบก่อนที่จะทำร้ายอีกฝ่าย โดยการฝึกควบคุมอารมณ์นี้จะทำให้การพูดคุยของคุณดูมีวุฒิภาวะจนทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงมากขึ้น
2 – การพูดสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแต่อ่อนโยนความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์บ่อยครั้งก็เกิดจากการไม่ได้สื่อสารออกมา ทำให้บางคนอาจต้องต่อสู้กับความรู้สึกไม่ดีเพียงลำพัง แม้ว่าในบางครั้งการพูดออกมาจะดูเป็นการโยนความรับผิดชอบไปให้คู่รักของคุณเกินไป แต่ถ้าหากไม่มีการพูดคุยกันเลยก็จะทำให้คุณต้องแบกรับอารมณ์ที่มากเกินไป และอาจทำให้คุณเผลอหลุดพูดคำที่ทำร้ายความสัมพันธ์มากกว่าเดิมได้
ดังนั้น การหันมาพูดคุยความรู้สึกกันจึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความอ่อนโยน ใส่ใจคำพูดที่อาจทำร้ายอีกฝ่าย เพราะการคุยกันจะทำให้คุณและคนรักช่วยกันตอบคำถามในส่วนที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกังวล ให้สามารถกลับมารู้สึกมั่นคงและปลอดภัยขึ้นได้
3 – การสร้างขอบเขตในความสัมพันธ์ในความสัมพันธ์บางครั้งการคิดมากก็เกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าควร ‘พอดี’ แค่ไหน เช่นความพอดีที่ได้จากการใส่ใจของอีกฝ่ายที่คุณอาจไม่รู้ตัวเองว่าเท่าไหนคือพอดีสำหรับตัวเอง ซึ่งมันอาจทำให้คุณน้อยใจหรืออึดอัดใจเกินไปจนทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน
โดยการสร้างขอบเขตจะทำให้ตัวคุณได้เข้าใจตัวเองและเข้าใจอีกฝ่ายด้วยว่าเขาต้องการแค่ไหน และคุณต้องให้ความใส่ใจจากเขาเท่าไร ผ่านการตกลงหาพื้นที่ตรงกลางให้กันและกัน หรือตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะช่วยลดความคิดมากลงได้ เพราะทำให้มีพื้นที่ปลอดภัยของกันและกันว่าต้องใส่ใจประมาณไหนถึงจะทำให้ความรักมั่นคง
4 – เคารพและยอมรับความรู้สึกตัวเอง
ท้ายที่สุดเมื่อคุณได้ลองทำทุกอย่างแล้วแต่ยังรู้สึกกังวลอยู่ ก็อย่าเพิ่งโทษตัวเอง เพราะการจะทำให้ตัวคุณรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ ต้องมาจากความรู้สึกมั่นคงภายในใจของคุณก่อนด้วย ดังนั้นการเคารพและยอมรับว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์ของคุณได้
หากวันไหนที่คุณคิดมากหรือรู้สึกไม่มั่นคงอีกก็ไม่ต้องไปดุด่าหรือตำหนิตัวเอง แค่ลองรับฟังความรู้สึกเหล่านั้นอย่างอ่อนโยนให้หัวใจได้พักบ้าง
เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะมั่นคงกับตัวเองได้ คุณก็จะเติบโตและมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่พร้อมรับมือกับความคิดไม่ดี ที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์นี้ได้เป็นอย่างดี