สะท้อนพลังวัฒนธรรมจีนใน “หนัง-ซีรีส์” กับกลยุทธ์บุกตลาดไทยของสื่อบันเทิงจีนยุคใหม่
“อุ๋ย นนทรีย์-โต๊ะ ปริภัณฑ์-ณัฐพร-ปรภาว์” สะท้อนพลังวัฒนธรรมจีนใน “หนัง-ซีรีส์” กับกลยุทธ์บุกตลาดไทยของสื่อบันเทิงจีนยุคใหม่
วงสนทนาที่จะเผยว่า พลังของวัฒนธรรมจีนในวรรณกรรม ภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ไม่เคยร้างหายไปจากสังคมไทย เพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างชาญฉลาด และยังมีอิทธิพลต่อคนไทยเสมอ
วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 15.30-17.00 น. ที่ Zone Classroom 1 อาคาร West ชั้น 2 True Digital Park มีกิจกรรม Talk “จากกระบี่เย้ยยุทธจักรถึงสตรีมมิ่ง: พลัง C-Pop และดาราจีน”มีผู้ร่วมสนทนา คือ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง,ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ ผู้ก่อตั้งทีมพากย์พันธมิตร,ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น และ ปรภาว์ สมบัติเปี่ยมสองผู้บริหารของ WETV แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ดำเนินรายการโดย สมชาย จิว ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน
ทุกคนมาร่วมกันเจาะลึกกระแสหนังจีนกำลังภายในที่ครองใจคนไทย ตั้งแต่ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” สู่ความนิยมของ C-Pop และดาราจีน บนแพลตฟอร์ม WETV สำรวจว่าแอปสตรีมมิ่งนี้ขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์จีนในไทยอย่างไร
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “Thai-Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” เทศกาลสุดยิ่งใหญ่ที่พาทุกคนร่วมเดินทางผ่านร้อยเรื่องราวของสองชาติตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมมองอนาคตผ่านสายตาของมิตรประเทศที่เติบโตเคียงข้างกันมาโดยตลอด เพื่อเฉลิมฉลองวาระสุดพิเศษครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยสำนักพิมพ์มติชน ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี ในเครือมติชน
อิทธิพล-ความทรงจำในวรรณกรรม-ภาพยนตร์จีน
อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับหนังไทยระดับตำนานเล่าว่า เติบโตมากับภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ยุคปักกิ่งฟิล์มรุ่นบุกเบิก มีหนังระดับตำนานของผู้กำกับชั้นครูหลายเรื่องที่อยู่ในความทรงจำ เช่น Farewell to My Concubine (หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม) ของ เฉินข่ายเก๋อ, Don’t Cry, Nanking (สงครามอำมหิตปิดตาโลก) ของ อู๋จื้อหนิว เรื่อยมาถึงยุคหนังฮ่องกงของผู้กำกับอย่างฉี เคอะ, จอห์น วู หนังจีนมีมุมมอง-แนวคิดหลายอย่าง ตนในฐานะคนทำหนังจึงรับหลาย ๆ อย่างมาเป็นแรงบันดาลใจ
ด้าน ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ หรือ “โต๊ะ พันธมิตร” บอกว่า ชอบอ่านทั้งวรรณกรรมและหนังจีน ชอบที่สุดคือ “มังกรหยก” และ “สามก๊ก” ซึ่งเต็มไปด้วยแง่คิด-คำสอนมากมาย รวมถึงการสอดแทรกวัฒนธรรมจีนเอาไว้อย่างเนียน ๆ “ในแง่ของการทำงาน ทั้งการเป็นนักพากย์และหัวหน้าทีมพันธมิตร หนังจีนถือว่ามีบุญคุณต่อผมมาก” ปริภัณฑ์กล่าว
ขณะที่คนรุ่นใหม่อย่าง หมอก-ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น และ แป้ม-ปรภาว์ สมบัติเปี่ยม จาก WETV ชี้ว่า การเติบโตมากับหนัง-ดารา-สื่อบันเทิงของจีน ก็มีส่วนหล่อหลอมตนให้มาทำงานด้านนี้เช่นกัน
สมชาย จิว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน ลงความเห็นว่า วรรณกรรมของจีนมีอิทธิพลต่อเรามาก่อนภาพยนตร์ด้วยซ้ำ และเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจและรู้จักจีนของคนไทยรวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน
นอกจากนี้ วงสนทนายังแลกเปลี่ยนกันเรื่องความพิเศษของหนังจีนที่มักเต็มไปด้วยคำสอนและสัญญะแบบปรัชญาตะวันออกซึ่งมีความลึกซึ้งมาก หลายครั้งคนดูต้องมาถอดรหัสทำความเข้าใจกันทีหลัง แถมแต่ละคนยังแปลความหมายแตกต่างกันไปอีก ซึ่งหนังไทยและตะวันตกก็หยิบยืมขนบดังกล่าวไปใช้กับงานของตัวเอง
สมชายยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้หนังจีนประสบความสำเร็จในระดับโลกคือ “คนจีนโพ้นทะเล” เพราะไม่ว่าชาวจีนจะไปอยู่ส่วนไหนของโลกก็ยังมีวัฒนธรรมร่วมกันอยู่
ทีม WETV เผยกลยุทธ์ยุคใหม่สื่อบันเทิงจีน
หมอก-ณัฐพร ผู้จัดการ WETV ประเทศไทย เล่าว่า WETV เป็นศูนย์รวมคอนเทนต์จีนยุคใหม่ที่มีหลากหลายมากและเป็นระดับท็อปของไทย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน จีนก็ยังคงพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ทุกวันนี้แอนิเมชันจีนพัฒนาไปไกลมาก เกือบทั้งหมดถูกสร้างเป็น 3D แม้จะทำเป็นซีรีส์ ไม่ได้ลงจอใหญ่ หรือซีรีส์แนวตั้งที่ทำเป็นตอนสั้น ๆ เนื้อเรื่องย่อยง่าย น่าติดตาม ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นอีกพัฒนาการที่ทำให้คนดูเชื่อมโยงกับคอนเทนต์เขามากขึ้น
ด้าน แป้ม-ปรภาว์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด WETV ประเทศไทย เสริมว่า “ปริมาณ” กับโปรดักชันที่เยี่ยมยอดของคอนเทนต์นี่แหละคือกลยุทธ์สำคัญของจีน เขาพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เข้ามาดูได้เรื่อย ๆ ให้อยู่ในแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอ “เหมือนข้ามกำแพงเมืองจีนเข้ามาแล้วออกไม่ได้”
“เมื่อก่อนหนังจีนเข้าไทยเรื่อย ๆ อยู่ ๆ หายไปเลย ผมสงสัยมากว่าหายไปไหน ที่แท้อยู่ตรงนี้ (สตรีมมิ่ง) เพราะจริง ๆ แล้วคนไทยไม่เคยทิ้งหนังจีน”โต๊ะ พันธมิตร เสริมด้วยอีกแรง
นอกจากนี้ วิทยากรและผู้นำเดินรายการยังร่วมพูดคุยกันอีกหลายประเด็น เช่น นัยที่ซ่อนอยู่ในผลงานเรื่อง “มังกรหยก” ของกิมย้ง, โอกาสที่ไทยจะสร้างคอนเทนต์แข่งขันในตลาดจีนและตลาดโลก, ความชื่นชอบหนัง-นักแสดงไทยของคนจีน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้หรือไม่? ซีรีส์จีน-ภาพยนตร์จีน ฯลฯ ทำไมต้องมีซับไตเติลภาษาจีน
- 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน คนวัยไหนเพศใด ไม่ควรอ่านเล่มไหน เพราะอะไร
- 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน แต่ก่อนไม่มี “ความฝันในหอแดง” แล้วเป็นเล่มไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สะท้อนพลังวัฒนธรรมจีนใน “หนัง-ซีรีส์” กับกลยุทธ์บุกตลาดไทยของสื่อบันเทิงจีนยุคใหม่
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com