Silicon Gold: อำนาจใหม่ในสงครามเศรษฐกิจโลก ตอนที่ 3 บทสรุปของการลงทุนในศตวรรษที่ 21
หลังจากที่เราได้เห็นชัดเจนในสองตอนแรกว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคของภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากเพียงตัวเลขในงบการเงินอีกต่อไป แต่เกิดจากการช่วงชิงทรัพยากรและอำนาจในเวทีโลก เมื่อเส้นแบ่งระหว่างประเทศเริ่มชัดขึ้น โลกไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวอีกต่อไป หากแต่แตกออกเป็นขั้วที่ขับเคลื่อนด้วยพันธมิตรและเทคโนโลยี
ในศตวรรษที่ 21 พลังงานยังคงสำคัญ แต่ไม่ใช่เชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวที่กำหนดเสถียรภาพของโลกอีกต่อไป ซิลิคอน หรือชิป เซมิคอนดักเตอร์ กำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงแห่งเศรษฐกิจใหม่ ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม และกำหนดทิศทางการลงทุนในโลกที่กำลังแบ่งขั้วอย่างรวดเร็ว
ในโลกที่สงครามไม่ได้วัดกันด้วยกระสุนปืน แต่ตัดสินกันด้วยการควบคุมทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ ซิลิคอนกำลังกลายเป็นอาวุธเศรษฐกิจที่ทรงอานุภาพที่สุด ชิปขนาดเล็กเหล่านี้ไม่เพียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ยังขับเคลื่อนเกมอำนาจระหว่างประเทศได้อย่างที่น้ำมันเคยทำในศตวรรษที่ผ่านมา
นักลงทุนที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ก่อน ย่อมมีโอกาสวางกลยุทธ์เพื่ออยู่รอดและเติบโตในศตวรรษแห่งซิลิคอนได้ก่อนใคร
หลังจากที่เราได้เห็นในตอนที่แล้วว่า พลังงานและเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นเสาหลักของการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โลกไม่ได้เดินหน้าด้วยทรัพยากรแบบเดิมอีกต่อไป แต่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า - ซิลิคอน ชิปขนาดเล็กที่อยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งในสนามรบ
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ศตวรรษที่ 20 คือ ยุคน้ำมัน เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มอาหรับและโอเปกใช้พลังของน้ำมันเป็นอาวุธทางการเมือง โลกต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความไม่มั่นคง เงินเฟ้อพุ่งสูง ตลาดหุ้นดิ่งลงเหว และสังคมโลกต้องปรับตัวรับมือกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไร้ความแน่นอน วิกฤตน้ำมันปี 1973 คือเครื่องเตือนใจว่า "พลังงาน" คือแก่นของอำนาจเศรษฐกิจในยุคนั้น
แต่โลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา และเศรษฐกิจโลกขยายตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตำแหน่งของทรัพยากรยุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำมันยังคงมีความสำคัญ แต่กำลังถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เล็กกว่า แต่ทรงพลังยิ่งกว่า - ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า โครงข่ายการสื่อสารระดับโลก ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI)
การควบคุมเทคโนโลยีการผลิตชิปในวันนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการค้าเสรีอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเกมแห่งอำนาจที่มีเดิมพันสูงกว่าทองคำหรือค่าเงิน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้รวมตัวกันสร้างแนวร่วมที่เรียกว่า "Chip 4 Alliance" เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน ในขณะที่จีนเองก็เร่งทุ่มงบมหาศาลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมชิปพื้นฐานให้พึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็วที่สุด
แนวโน้มอุตสาหกรรมชิปจึงกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของโลกการลงทุน ไม่ต่างอะไรกับยุคน้ำมันที่ใครควบคุมแหล่งพลังงานได้มากกว่าก็สามารถกำหนดอนาคตเศรษฐกิจได้ นักลงทุนที่ยังคิดว่าการเลือกหุ้นเทคโนโลยีเป็นเพียงการดูยอดขายหรืออัตรากำไร อาจกำลังก้าวเดินไปยังขอบหน้าผาโดยไม่รู้ตัว
เพราะในโลกปัจจุบัน การวิเคราะห์หุ้นเทคโนโลยีต้องมองลึกถึงระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โลจิสติกส์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐมหาอำนาจ
เมื่อซิลิคอนกลายเป็นพลังงานใหม่ การลงทุนในยุคภูมิรัฐศาสตร์จึงต้องพลิกวิธีคิดใหม่ นักลงทุนที่ต้องการอยู่รอดและเติบโตในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Semiconductor จึงไม่ใช่แค่การคาดหวังการเติบโตของยอดขายเท่านั้น แต่คือการเดิมพันใน "เส้นเลือดใหญ่" ของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ และของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย
บริษัทผู้ผลิตชิป เช่น TSMC, Samsung Electronics หรือผู้ผลิตเครื่องจักรขั้นสูงอย่าง ASML กำลังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ใช่เพียงเพราะตัวเลขกำไรในงบการเงิน แต่เพราะบทบาทที่พวกเขามีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน กลุ่มเทคโนโลยีที่พึ่งพาชิปขั้นสูง เช่น AI, Cloud Computing, Cybersecurity ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะพวกเขาคือกลุ่มที่จะขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ในโลกหลังการระบาดของโควิด-19 และในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์กำลังมีความตึงเครียดสูง
อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงยังคงเป็นหัวใจของการจัดพอร์ตในยุคความเสี่ยงสูง นักลงทุนไม่ควรเทหมดหน้าตักกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ต้องกระจายการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อเกาะเทรนด์เศรษฐกิจใหม่โดยไม่แบกรับความเสี่ยงเฉพาะตัวเกินไป
นอกจากนี้ ความเข้าใจเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของห่วงโซ่อุปทานชิปยังสำคัญยิ่ง นักลงทุนต้องรู้ว่า บริษัทที่ตนถือครองมีโรงงานหรือฐานการผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะในยุคที่ช่องแคบไต้หวันกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ และแหล่งของความตึงเครียด การถือหุ้นบริษัทที่พึ่งพาฐานการผลิตในพื้นที่เสี่ยง อาจหมายถึงการถือระเบิดเวลาทางการลงทุนไว้ในพอร์ต
การจัดพอร์ตในยุค Silicon Gold จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบสิ้นเชิง จากเดิมที่นักลงทุนอาจเลือกหุ้นกลุ่มพลังงานหรือกลุ่มธนาคารเพื่อสร้างรายได้ปันผลสม่ำเสมอ วันนี้ การเลือกหุ้นในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีกลายเป็นเข็มทิศใหม่ของความมั่งคั่งระยะยาว
หุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Semiconductor เช่น TSMC, Nvidia, ASML หรือผู้ผลิตวัตถุดิบและเครื่องมือทางเทคโนโลยี กำลังกลายเป็นหัวใจใหม่ของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่บริษัทน้ำมันอย่าง ExxonMobil และ Chevron เคยครองโลกในศตวรรษที่ผ่านมา
หากการลงทุนในหุ้นรายตัวดูเสี่ยงเกินไป ท่านผู้อ่านอาจพิจารณาใช้กองทุน ETF ธีมเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ เช่น SOXX, SMH หรือ PHLX เพื่อเกาะแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่โดยไม่ต้องเลือกหุ้นเจาะจงเป็นรายตัว
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในยุคนี้ต้องมีความยืดหยุ่น และมีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจใหม่ของโลก เช่น การกระจายตามห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การกระจายตามภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น AI, EV Infrastructure และ Defense Tech ล้วนเป็นหัวใจสำคัญที่นักลงทุนยุคใหม่ต้องคำนึงถึง
และที่สำคัญที่สุด นักลงทุนต้องกล้าเปลี่ยนตามโลก แทนที่จะคาดหวังให้โลกกลับไปเหมือนเดิม เพราะในโลกที่ซิลิคอนกลายเป็นทรัพยากรใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การยึดติดกับโครงสร้างเศรษฐกิจเก่าไม่ต่างอะไรกับการลงทุนในเหมืองถ่านหินในวันที่โลกกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด
ในศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ใช่แค่การเลือกหุ้นให้ดี แต่คือการเลือกข้างให้ถูก และพอร์ตที่กล้าเคลื่อนไหวตามเส้นทางของอำนาจโลกเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์รอดและเติบโตได้ในระยะยาว
Silicon is the New Oil.
จึงเป็นบทสรุปของการลงทุนในศตวรรษที่ 21
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,113 วันที่ 13 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568