โรงแรมโอด! ค่าแรงใหม่กระทบหนัก รัฐบาลเมินข้อเสนอทบทวน
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2568 สมาคมโรงแรมไทยได้ทำหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า เฉพาะกลุ่มอาชีพในภาคบริการ และอุตสาหกรรมโรงแรม โดย ตามที่กระทรวงแรงงานและคณะกรรมการไตรภาคี ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีผลมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2568 โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพภาคบริการ และอุตสาหกรรมโรงแรม ได้แก่ โรงแรมตั้งแต่ระดับ 2 ดาวขึ้นไป หรือโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 50 ห้องขึ้นไป รวมถึงสถานบริการอื่นๆ แต่รัฐบาลไม่มีหนังสือตอบกลับมายังสมาคม พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการไตรภาคีได้มีมติเห็นชอบ
“อยากให้รัฐบาลจัดการโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตทำให้ถูกต้อง เพราะการขึ้นค่าแรงมีผลบังคับเฉพาะกับโรงแรมที่อยู่ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะโรงแรมตั้งแต่ระดับ 2-4 ดาวขึ้นไป ที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม 15-19% ส่วนโรงแรมนอกระบบไม่ต้องมาแบกรับภาระเพิ่ม หากเป็นแบบนี้เหมือนจะบีบให้โรงแรมในระบบออกจากระบบ ที่ผ่านมาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลพูดมาตลอดว่าจะดึงโรงแรมที่ผิดกฎหมายเข้าระบบให้ถูกต้องแต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรงแรมในต่างจังหวัด จะได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าในครั้งนี้เฉลี่ย 10-15% เช่น ตรัง น่าน พะเยา แพร่ ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 15.94% เชียงใหม่ เพิ่มขึ้น 12.04% กาญจนบุรี เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้น 13.64% หรือกรณีพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นตํ่าอยู่ที่ 337 บาทต่อวัน เท่ากับว่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 18.69% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปไม่ได้มีมากนัก สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ การปรับขึ้นรอบนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ในหลักการและเหตุผล เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปหนาแน่น และยังเป็นการปรับขึ้นแค่ราว 7.5% จากอัตราเดิม 372 บาท เป็น 400 บาท
อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านค่าแรง 10-20% สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากนั้น จะเป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาวแน่นอน ซํ้าเติมธุรกิจที่ยังมีนักท่องเที่ยวน้อย โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัด และสิ่งที่เสียใจมากๆ คือ ค่าแรงขั้นตํ่าควรจะสะท้อนค่าครองชีพ และควรปรับค่าแรงขั้นตํ่าอย่างทั่วถึง ไม่ควรที่จะเลือกขึ้นค่าแรงขั้นตํ่ากับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ซึ่งไม่ยุติธรรมกับทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ
สำหรับข้อเสนอที่สมาคนโรงแรมได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อทบทวนมติดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลัก ดังต่อไปนี้
1.ภาวะการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันภาคการท่องเที่ยว ของประเทศไทย กำลังเผชิญกับภาวะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จากตลาดหลักในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย และรัสเชีย ทั้งยังได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นด้านความปลอดภัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศ ส่งผล ให้รายได้ของผู้ประกอบการโรงแรมลดลง ขณะเดียวกันต้นทุนด้านวัตถุดิบ ค่าพลังงาน และแรงงานก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงในช่วงเวลานี้จะซํ้าเติมภาระผู้ประกอบการและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
2.การกำหนดขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มอาชีพถือเป็นความไม่เป็นธรรม การปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มอาชีพ เช่น โรงแรมตั้งแต่ 2 ดาวขึ้นไป หรือโรงแรมที่มีห้องพักเกิน 50 ห้อง ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเพื่อนระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งยังยังสร้างแรงใจในทางลบที่อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่ประสงค์ขอใบอนุญาตโรงแรม หรือลดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม
3.กระทบต่อการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดท่องเที่ยวโลก การเพิ่มภาระดันทุนเฉพาะกลุ่มโดยไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอุปสงค์ของตลาด อาจทำให้ประเทศ ไทยสูญเสียความสามารถ ในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นสมาคมโรงแรมไทยจึงขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อทบทวนมติและพิจารณายกเลิกการกำหนดปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเฉพาะกลุ่มอาชีพ และขอให้พิจารณานโยบายในภาพรวมที่สะท้อนความเป็นธรรมและความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ