"สส.ไอซ์" จี้สอบ กสทช. ปมตั้งราคาคลื่นต่ำ เอื้อเอกชน
"สส.ไอซ์" จี้สอบ กสทช. ปมตั้งราคาคลื่นต่ำ เอื้อเอกชน เตรียมแก้กฎหมายคุมเข้ม ตรวจสอบงบ-ที่มาบอร์ด
วันที่ 3 ก.ค. 2568 ที่อาคารรัฐสภา นางสาวรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน แถลงข่าวถึงกรณีการประมูลคลื่นความถี่โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า เดิมตั้งใจจะแถลงในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่รอผลการประชุมของคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมีกำหนดหารือมาตรการภายหลังการประมูล อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมไม่เกิดขึ้นตามกำหนด จึงขอชี้แจงต่อสาธารณะในวันนี้
นางสาวรักชนก ตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเพียง 2 รายใหญ่ ไม่สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริงในตลาด และราคาประมูลตั้งต้นที่ใช้ ยังอิงจากตัวเลขเมื่อปี 2555 ทั้งที่ปัจจุบันการใช้งานคลื่นความถี่เพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าทางเศรษฐกิจของคลื่นก็เปลี่ยนแปลงไปมากในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
นางสาวรักชนก ยกตัวอย่างว่า คลื่น 2100 MHz ตั้งราคาประมูลเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท แต่ราคาปิดอยู่ที่เพียง 4,900 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทเอกชนของรัฐเคยปล่อยเช่าคลื่นเดียวกันให้เอไอเอสในราคา 12,700 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงรัฐสูญเสียรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท
ในกรณีคลื่น 2300 MHz ราคาเริ่มต้นที่ 2,600 ล้านบาท ปิดที่ 3,100 ล้านบาท ขณะที่ดีแทคเคยเช่าคลื่นนี้ในอดีตในราคา 7,300 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญรายได้อีกราว 4,000 ล้านบาท
“ ตั้งราคาต่ำขนาดนี้เพื่อใคร? เพื่อประชาชนหรือเพื่อค่ายมือถือ? สุดท้ายแล้ว ประชาชนก็ยังไม่ได้รับบริการราคาถูกลงแม้แต่น้อย ” นางสาวรักชนก กล่าว พร้อมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการกำหนดราคาประมูล
นอกจากนี้ พรรคประชาชนยังเตรียมผลักดันการแก้ไขกฎหมาย กสทช. ในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
- การปรับโครงสร้างที่มาของบอร์ด กสทช. เพื่อให้มีความยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น
- การกำกับดูแลงบประมาณของ กสทช. ให้ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา ลดอำนาจการบริหารเงินโดยตรง
- การเปิดเผยงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ทุกโครงการของ กสทช. โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองของสภาผู้แทนราษฎร
นางสาวรักชนก ยังเปิดเผยว่า พรรคประชาชนกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อพิจารณายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลปกครอง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. และรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการประมูลคลื่นในครั้งนี้
“ เราจะไม่ปล่อยให้หน่วยงานอิสระใช้งบประมาณของรัฐอย่างไม่มีการตรวจสอบ เพราะคลื่นความถี่คือทรัพย์สินของประชาชนทั้งประเทศ ” นางสาวรักชนก กล่าวทิ้งท้าย