รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกของโลก ยอมรับ "รัฐบาลตาลีบัน" ในอัฟกานิสถาน
รัสเซียประกาศยอมรับรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การรับรอง หลังรับรองเอกสารแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่จากกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ระบุว่า การรับรองดังกล่าวเปิดโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคี โดยรัสเซียจะให้การสนับสนุนอัฟกานิสถานในด้านความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย และการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การขนส่ง การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐาน
อามีร์ ข่าน มุตตากี รัฐมนตรีต่างประเทศของอัฟกานิสถาน กล่าวชื่นชมท่าทีของรัสเซียว่าเป็น "ก้าวที่กล้าหาญ" พร้อมหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆดำเนินตาม
ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดยอมรับรัฐบาลตาลีบันอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่กลุ่มเข้ายึดอำนาจในเดือนสิงหาคม 2021 หลังจากสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน สิ้นสุดสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี
แม้ยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศอื่น แต่ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน และอุซเบกิสถาน ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงคาบูลแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูต
อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน โดยกลุ่มตาลีบันสั่งปิดโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยสำหรับผู้หญิง รวมถึงจำกัดการเคลื่อนไหวหากไม่มีผู้ชายในครอบครัวร่วมเดินทาง โดยอ้างว่าเป็นการเคารพกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ รัสเซียเคยจัดให้ตาลีบันเป็นองค์กรก่อการร้ายในปี 2003 แต่ได้ยกเลิกสถานะดังกล่าวในเดือนเมษายน 2025 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลมอสโกต้องการความร่วมมือกับกลุ่มตาลีบันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาค
นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา รัสเซียและอัฟกานิสถานได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอัฟกานิสถานนำเข้าสินค้าจำเป็นจากรัสเซียจำนวนมาก เช่น ก๊าซ น้ำมัน และข้าวสาลี สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆระหว่างทั้งสองประเทศ