ต่างชาติวิเคราะห์ 'อิ๊งค์' จ่อพ้นตำแหน่ง ถึงเลือกตั้งใหม่ ทหารก็จะขัดขวางฝ่ายค้าน
หลังจาก นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันอังคาร (1 ก.ค.68) นักวิเคราะห์ต่างชาติ ก็มองเห็นถึงปัญหาในอนาคตของประเทศไทย
การสั่งระงับปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไทย มีขึ้นหลังจากมีการเผยแพร่คลิปเสียง จากฝ่ายกัมพูชาระหว่างนายกฯ แพทองธาร กับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
ระหว่างนี้นายกฯ ไทย มีเวลา 15 วันในการชี้แจงต่อข้อกล่าวหา ขณะที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นนั่งรักษาการนายกฯ
โจชัว คูร์แลนซิค นักวิจัยอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า
“ไม่มีทางที่แพทองธาร จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง เนื่องจากนี่เป็นความพยายามร่วมกันของกองทัพ และพันธมิตรที่จะกำจัดตระกูลชินวัตร ให้สิ้นซาก รวมถึงคนที่สำคัญกว่านั้น นั่นก็คือ “ทักษิณ’ ”
คูร์แลนซิค กล่าวถึงทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2001-2006 ขณะที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของเขา เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2011-2014
การถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับสองในพรรคร่วมรัฐบาลทำให้พรรครัฐบาลชินวัตร เหลือฐานเสียงนำในสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แม้ว่าดูเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยของชินวัตร จะสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ในตอนนี้ แต่คูร์แลนซิค กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ “จะสั่นคลอนมาก” และอาจล่มสลายได้ “ภายในหนึ่งหรือสองเดือน” และเสริมว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทย “ไม่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง”
ศรีปารนา บาเนอร์จี ผู้ช่วยวิจัยร่วมจาก Observer Research Foundation กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า แม้ว่านายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ “อำนาจ และพรรคร่วมรัฐบาลยังคงอ่อนแอ”
การเมืองป่วน-เศรษฐกิจเสี่ยง
ความไม่มั่นคงทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเผชิญกับการท่องเที่ยวที่ซบเซา และภาษีศุลกากรที่กำลังจะถูกเรียกเก็บจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
บาเนอร์จี กล่าวว่า หากไทยไม่มีหัวหน้ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพ “ความสามารถของประเทศไทยในการตอบสนองต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายนอก เช่น ภาษีศุลกากรจากสหรัฐ จะถูกจำกัด”
ไทยอาจถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษี 36% หากไม่สามารถบรรลุการเจรจาการค้ากับสหรัฐภายในวันที่ 9 ก.ค.68 นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่สหรัฐจะผ่อนปรนภาษีตอบโต้ต่อประเทศต่างๆ ไว้ที่ 10%
นักวิเคราะห์คนนี้เตือนอีกว่า แม้ประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายของรัฐบาลแพทองธารที่โฟกัสมาตรการกระตุ้น และเพิ่มขีดความสามารถด้านแข่งขันในการส่งออก แต่การขาดผู้นำสูงสุดที่แข็งแกร่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการต่างๆ และทำให้การเจรจาการค้ามีความซับซ้อน
“ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจลดลง และความเฉื่อยของระบบราชการอาจทำให้การตอบสนองที่สำคัญเกิดความล่าช้าในช่วงที่ประเทศไทยต้องการทิศทาง และการประสานงานที่ชัดเจนอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา”
เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.68)ธนาคารโลก ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2025 สู่ระดับ 1.8% ลดลงจาก 2.8% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2026 สู่ระดับ 1.7% สู่ 2.7%
เศรษฐกิจไทยโต 3.1% ในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงไตรมาสแรกของปี 2025 และทั้งปี 2024 โตเพียง 2.5% สถานการณ์เชิงลบเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นในตลาดหุ้นของประเทศไทย โดยดัชนี SET ลดลงประมาณ 20% แล้วในปีนี้
พอล กัมเบิลส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง MBMG Group กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน เผยกับรายการ Squawk Box Asia ของซีเอ็นบีซี ว่า ภาษีทรัมป์ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับไทย แต่ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่รุนแรงต่างหาก
“ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวหลายประการกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นเวลาที่แย่ที่สุด”
ขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี แต่ระดับหนี้ต่อจีดีพียังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบริโภค และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ตกอยู่ในภาวะกดดัน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2025 ยอดนักท่องเที่ยวเยือนไทยลดลง 12% เมื่อเทียบแบบปี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทยก็ลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน สื่อไทยเองก็รายงานว่า ประเทศอาจพลาดเป้านักท่องเที่ยว 39 ล้านคน ในปี 2025
เลือกตั้งใหม่ ทหารจะขวางฝ่ายค้าน?
คูร์แลนซิค กล่าวว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองของไทยจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ในปี 2023 พรรคก้าวไกล ซึ่งนำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้สร้างความตกตะลึงให้กับกลุ่มทหารอีลีท และกลุ่มอนุรักษนิยมของไทย เนื่องจากพรรคสามารถคว้าชัยชนะเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากถูกคัดค้านจากวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยกองทัพ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหนึ่งปีต่อมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวส่งผลให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลัก ปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน
“เป็นไปได้ว่าในที่สุดแล้ว…อาจจะมีการรวมกลุ่มทางการเมืองแบบอื่นในสภาที่ทหารพอใจกว่า หรืออาจมีการเลือกตั้งใหม่ และทหารจะพยายามขัดขวางไม่ให้ฝ่ายค้านได้เสียงข้างมาก" คูร์แลนซิค กล่าว
ขณะที่กัมเบิลส์ จาก MBMG กล่าวว่า “ความปั่นป่วนทางการเมืองภายในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดตรงๆ มันเหมือนจะเป็นปกติไปแล้ว” และเสริมว่า “อาจมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัฐสภา ในคณะรัฐมนตรี แต่ผมคิดว่าทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม อะไรเดิมๆ วงจรเดิมๆ”
อ้างอิง: CNBC
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์