‘นาซา’ ยืนยันพบ ‘วัตถุระหว่างดาวฤกษ์’ มุ่งหน้าเข้าสู่ระบบสุริยะ
องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐหรือ ‘นาซา’ (NASA) ยืนยันว่าค้นพบวัตถุนอกระบบสุริยะหรือวัตถุระหว่างดาวฤกษ์ (Interstella object) ที่กำลังเคลื่อนที่ผ่านระบบสุริยะ และคาดว่าจะโคจรเข้าใกล้โลกภายในปีนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม
เมื่อแรกค้นพบ นาซา ยังไม่สามารถระบุประเภทของวัตถุดังกล่าว แต่ขณะนี้ยืนยันได้แล้วว่า มันคือดาวหางและได้รับการตั้งชื่อว่า ‘3I/ATLAS’ ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2568 โดยระบบ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในชิลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยล่วงหน้าของโลกสำหรับการตรวจจับวัตถุในอวกาศและคำนวณเส้นทางโคจรเพื่อดูว่าจะชนโลกหรือไม่
ในปัจจุบัน ดาวหาง 3I/ATLAS อยู่ห่างจากโลกประมาณ 420 ล้านไมล์ และจะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดที่ระยะประมาณ 150 ล้านไมล์ โดยจะเคลื่อนที่ผ่านระหว่างวงโคจรของโลกและดาวอังคาร ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะชนกับโลกของเราแต่อย่างใด
นาซาระบุว่า ดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในระยะประมาณ 130 ล้านไมล์ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ขณะนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาดาวหางดังกล่าวเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม และคาดว่ากล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกจะสามารถสังเกตดาวหาง 3I/ATLAS ได้จนถึงเดือนกันยายน 2568 หลังจากนั้นมันจะเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปจนไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ แต่จะกลับมาให้มองเห็นได้อีกครั้งในเดือนธันวาคมปีนี้
วัตถุระหว่างดาวฤกษ์นี้มาจากที่อื่นในกาแล็กซีที่ไม่ใช่ระบบสุริยะของเรา และดูเหมือนว่าจะเดินทางมาจากทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู
ดาวหาง 3I/ATLAS ถือเป็นวัตถุระหว่างดาวฤกษ์ชิ้นที่สามที่ได้รับการยืนยันการพบเห็นในระบบสุริยะ โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยนอกระบบสุริยะชื่อว่า โอมูอามูอา (Oumuamua) ในปี 2560 และดาวหางชื่อ 2I/บอริซอฟ (2I/Borisov) ที่ปรากฏขึ้นในอีกสองปีต่อมา
ที่มา : science.nasa.gov, ladbible.com
เครดิตภาพ : NASA/JPL-Caltech, YouTube / NASA Jet Propulsion Laboratory